กระแสความนิยม “นาโน” เกิดขึ้นหลังจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านขึ้นมาเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตยุคใหม่ เช่น เครื่องนอนต้านแบคทีเรีย เสื้อผ้าต้านแบคทีเรีย โคมไฟฟอกอากาศ เครื่องซักผ้าต้านแบคทีเรีย ตุ๊กตาฟอกอากาศ บ้านสุนัขต้านแบคทีเรีย กระจกทำความสะอาดตัวเอง เป็นต้น
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ให้คำนิยาม “นาโนเทคโนโลยี” ว่า เป็นเทคโนโลยีประยุกต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการ การสร้าง การสังเคราะห์วัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับของอะตอม โมเลกุลหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วงประมาณ 1 ถึง 100 นาโนเมตร ซึ่งจะส่งผลให้วัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ มีหน้าที่ใหม่ๆ และมีคุณสมบัติที่พิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้สอยและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ในขณะที่ “น้ำยาหยอดตานาโน” ถูกรายงานผ่านสื่อเป็นครั้งแรก ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2561 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยเป็นการนำเสนอผลงานของทีมนักวิจัยชาวอิสราเอล ซึ่งระบุว่า อาจเป็นทางเลือกที่ให้กับคนที่มีปัญหาสายตามากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก
รายงานข่าวอ้างอิงคำพูดของ “เดวิด สมาดจา” ผู้อำนวยการแห่ง รีแฟลคทีฟ เซอร์เจอร์รี่ ชาร์ เซเดคเมดดิคอล เซ็นเตอร์ ที่เปิดเผยว่า แนวคิดนี้คือการหาทางรักษาหรือปรับเปลี่ยนการหักเหของเเสงด้วยยาหยอดตา โดยไม่ต้องปรับรูปทรงของกระจกตาอย่างที่เกิดขึ้นจากการสวมเเว่นตา การสวมคอนเเทคเลนส์ หรือการผ่าตัดสายตาด้วยเเสงเลเซอร์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนดรรชนีหักเหในกระจกตาเพื่อช่วยปรับให้เเสงที่ตกกระทบกระจกตามีความคมชัด
“ขั้นตอนนี้ได้รับการออกเเบบให้ทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยใช้แอพ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่วัดการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น เพื่อช่วยให้สายตามองเห็นคมชัด หลังหยอดย้ำยาหยอดตานาโนนี้แล้ว น้ำยาหยอดตานาโนจะเข้าไปในร่องสลักขนาดจิ๋วบนกระจกตานี้ เพื่อให้แสงที่ตกลงบนกระจกตามีความคมชัด”
อย่างไรก็ตาม เดวิด กล่าวว่า การทดสอบเบื้องต้นหลายครั้งกับตาของสัตว์ทดลองสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติของดรรชนีหักเหของเเสงในกระจกตาได้ ทั้งก่อนหน้าที่จะใช้ยาหยอดตานาโน เเละหลังจากการหยอดตานาโน โดยพบว่าสายตามองเห็นได้คมชัดขึ้นนานหลายชั่วโมง และขั้นต่อไปของการทดลอง จะเป็นการยืนยันระยะเวลาของฤทธิ์ยาหยอดตานาโน
ต่อมา สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) SLRI ของประเทศไทย โพสต์เนื้อข่าวดังกล่าวลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2018
จนกระทั่งล่าสุดข่าวซึ่งเป็นเนื้อหาเดิมๆ นั้นได้ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียอีกครั้ง จนทำให้กรมการแพทย์ ต้องออกมาประกาศเตือน หลังจากตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าน้ำยานาโนมีการศึกษาทดลองอยู่ในต่างประเทศ โดยเป็นการทดลองนำน้ำยาชนิดหนึ่งมาใช้กับดวงตาของหมูในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นดวงตาที่ไม่ได้อยู่ในหมูที่มีชีวิตนำมาทดลองวิจัย
“ข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีผลในการหักเหแสงของกระจกตาหรือการเปลี่ยนค่าสายตาได้ประมาณ 200-300 หน่วย ซึ่งในการทดลองนี้มีผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น ได้ผลเพียงระยะเวลาสั้นๆ เหตุเพราะการทดลองยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการทดลองในสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต ดังนั้นหากมีปัญหาสายตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง” นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวยืนยัน
ก่อนหน้านี้ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนการตัดต่อคลิปวิดีโอของ ศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ลงในเว็บไซต์ https://rine.xvsgwq.com/ollajxvf นำไปใช้โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณน้ำยาหยอดตานาโน ว่าสามารถฟื้นฟูสายตาให้เป็นปกติโดยไม่ต้องผ่าตัด
การโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และขณะนี้ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด อย.จึงได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระงับการโฆษณาและดำเนินการคดีกฎหมายแล้ว
คำชี้แจงของอย.ระบุว่า นพ.ศักดิ์ชัย เคยให้ข้อมูลผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง หลังสังคมออนไลน์ได้แนะนำยาหยอดตานาโน โดย นพ.ศักดิ์ชัย ระบุเพียงว่า ขณะนี้มีการทดลองน้ำยาชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในระยะเริ่มแรก ยังไม่ได้มีการทดลองในมนุษย์ ดังนั้น อย. จึงขอแจ้งเตือนว่าอย่าหลงเชื่อการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยอ้างบุคลากรทางการแพทย์ให้ดูน่าเชื่อถือ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบาง ติดเชื้อได้ง่าย ถ้านำสิ่งที่ไม่ใช่ยาหรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยามาใช้กับดวงตาอาจเกิดการติดเชื้อหรือรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ผู้มีปัญหาควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ทั้งนี้ น้ำยาหยอดตาจัดเป็นยา ซึ่งต้องระบุเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก ผู้ที่ผลิต ขาย หรือนำสั่งยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
สรุปประเด็นน้ำยาหยอดตานาโน เป็นการนำข่าวทีมวิจัยอิสราเอลที่เคยถูกนำเสนอมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนกลับมาเผยแพร่และแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้จะมีการค้นคว้าและทดลองจริงแต่ก็เป็นเพียงการทดลองกับดวงตาของหมูในห้องปฏิบัติการที่ไม่มีชีวิต
ดังนั้น หากมีผลิตภัณฑ์น้ำยาหยอดตานาโนแอบอ้างหรือวางจำหน่าย นอกจากจะเป็นเรื่องเท็จแล้วยังสามารถดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายได้ด้วย
- 130 views