ผอ.สนง.ควบคุมโรคเผยร้องทุกข์กล่าวโทษห้างสรรพสินค้า – ร้านค้าฐานผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องเดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 58 แต่ไร้ความคืบหน้า เหตุล่าสุดใกล้หมดคดีความในปี 63 แต่จนท.ยังไม่ส่งฟ้องคดี ให้เหตุผลว่า เพิ่งได้รับเรื่องจากเพื่อนตำรวจอีกคน
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตนและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ในคดีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา26 และประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 โดยได้ตรวจสอบพบการกระทำความผิด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 จนขณะนี้คดีใกล้จะหมดอายุความ ภายในปี2563 นี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่ได้ทำเรื่องส่งฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าเพิ่งได้รับเรื่อง จากเพื่อนตำรวจอีกคนหนึ่ง
“ฉลากที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องไม่มีข้อความ2ประเภท คือ1.ข้อความที่(ไม่เป็นธรรม)ต่อผู้บริโภค เช่น ข้อความที่เป็นเท็จ เกินความจริง ข้อความที่ก่อให้เกิดความแตกแยก 2.ข้อความอวดอ้างสรรพคุณ มีรูปดารา นักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียง (หรือ)ชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงโดยอ้อม และไม่ว่าข้อความจะอยู่ในขวด กระป๋อง หรือวัสดุใดที่ห่อหุ้ม ต้องห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดใดๆที่เชิญชวนให้ซื้อมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ที่ออกมาในปีพุทธศักราช 2558ไม่ได้ห้ามหรือเป็นอุปสรรคทางการค้า แต่เป็นการห้ามกรณีที่มีถ้อยคำหรือข้อความที่ไม่เป็นธรรม อวดอ้างให้ดื่มโดยตรงโดยอ้อม เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค หากยังมีการผลิตหรือนำเข้า ตามประกาศฉบับใหม่ ต้องมีโทษจำคุก1ปี ปรับ1แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา ดูแลสังคม หากพบการกระทำผิดให้แจ้งมาที่สคอ.02-5903342 หรือ http:// TAS.go.th” นพ.สมาน กล่าว
ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เรื่องเจ้าหน้าที่ปล่อยให้คดีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมดอายุความ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น อายุความ5 ปี แต่ตำรวจไม่สามารถดำเนินคดีฟ้องร้องหรือเอาผิดได้ ใช่หรือไม่ว่าคดีเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับใคร เจ้าหน้าที่ถึงได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
- 33 views