กรมควบคุมโรค ชี้แนวคิดก.ท่องเที่ยวฯ เสนอลดระยะเวลากักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 7 วันจาก 14 วัน เป็นเพียงแนวคิดจากหลายประเทศ แต่ถือว่ามีความเสี่ยงมาก เพราะไทยไม่สามารถคิดแบบเดียวกัน รอกก.โรคติดต่อฯพิจารณาเพิ่ม
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีข้อเสนอว่าหากผลการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยระยะยาวไม่พบปัญหา การแพร่ระบาดโรคโควิด19 ก็จะเสนอลดระยะเวลาการกักตัวนักท่องเที่ยวจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิด เพราะขณะนี้ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ มีการลดจำนวนวันกักตัวคนที่มีความเสี่ยงลง แต่อย่าลืมความเสี่ยงในต่างประเทศ กับในประเทศแตกต่างกันมาก ซึ่งในต่างประเทศที่มีการระบาดโรคโควิดจำนวนมาก ในชุมชนมีการติดเชื้อตลอดเวลา ดังนั้นกักตัว 7 วันก็น่าจะพอ เพราะที่กักกันนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าในชุมชนอีก
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศไทย มีอัตราการติดเชื้อต่ำมาก ในชุมชนปลอดภัยกว่าที่กักกันหากเราปล่อยความเสี่ยงออกจากที่กักกันจึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมาก เพราะฉะนั้นถึงจะมีแนวคิดลดการกักตัวจาก 14 วัน เหลือเพียง 7 วันนั้นจึงค่อนข้างมีความเสี่ยงมาก ทั้งนี้ข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็คล้ายๆ ข้อเสนอของอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคิดว่าคงมีการติดตามสถานการณ์ต่างประเทศที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยไม่สามารถคิดแบบเดียวกับต่างประเทศตรงๆ ขณะนี้ อยู่ระหว่างที่กรรมการวิชาการตามกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังต้องการข้อมูลเพิ่มอีกมาก
เมื่อถามว่า หากตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน พบคนไหนมีภูมิคุ้มกันแล้วแปลว่ามีการติดเชื้อมาก่อน อาจจะสามารถพิจารณาลดวันกักตัวไม่ต้องถึง 14 วันได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า การตรวจภูมิคุ้มกันก็ทำให้ทราบว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันมาแล้วน่าจะเสี่ยงน้อยกว่า เรื่องนี้ก็อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาซึ่งคาดว่าน่าจะมีคำแนะนำออกมาจากคณะกรรมการวิชาการเร็วๆ นี้ เป็นเรื่องที่กำลังเร่งทำอยู่ โดยหลักก็ยังกักตัว 14 วัน แต่ข้อมูลตรงนี้จะมาเป็นส่วนเสริมเพื่อการพิจารณาเพิ่มเติม เรื่องนี้ต้องทำอย่างรอบคอบ
เมื่อถามต่อว่าหากเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคโควิด19 ติดต่อกันเวลานาน สามารถลดการกักตัวได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเทศที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมานานแล้ว จริงๆ ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่าประเทศไทย นอกจากนี้ ก่อนเข้าไทยยังต้องตรวจโควิดก่อน 72 ชั่วโมง พอมาถึงก็ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง แล้วไม่ต้องกักตัวเลย ถามว่าเขามีความเสี่ยงมากกว่าไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่ปัญหาคือประชาชนจะสามารถรับได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีการหารือกันอย่างรอบคอบ เรื่องนี้ก็เหมือนเราข้ามถนน ถ้าเราไม่ข้ามเลยก็ไม่เสี่ยง ถ้าข้ามตอนรถติด ก็อาจอาจจะไม่เสี่ยงมาก แต่อาจจะมีรถมอเตอร์ไซต์ซิกแซกมาชนได้ แล้วถ้าข้ามตอนรถน้อยๆ ก็เสี่ยงน้อย แต่ก็อาจจะชนแรง เพราะฉะนั้นเมื่อจะข้ามถนนก็ต้องข้าม แต่ต้องข้ามให้ปลอดภัยที่สุด โควิดก็เช่นกัน การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่จะเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมากอยู่ที่เราออกแบบ
- 5 views