ปรับทัพใหม่ผู้บริหารสธ. ขับเคลื่อนนโยบาย “อนุทิน ชาญวีรกูล” เดินหน้าคนไทยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์-30 บาทรักษาทุกที่ รอเล็งเหลือแต่งตั้งผู้ตรวจราชการ สธ. และปธ.บอร์ด อภ.คนใหม่กลาง ต.ค.นี้
ถูกจับตามองอีกครั้งภายหลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต นั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ แทน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.ที่จะเกษียณอายุราชการเดือน ก.ย.นี้ และตามมาด้วยการแต่งตั้งรองปลัด สธ. และอธิบดีที่มีการสลับตำแหน่งรวมแล้ว 10 ท่าน
ที่สำคัญงานนี้ยังแต่งตั้งตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขก่อน 1 ท่าน คือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ลอยลำขึ้นตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากรับหน้าที่โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งตำแหน่งผู้ตรวจฯ ยังว่าง และคาดว่า มีตัวเต็งจาก 5 กรม คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าชิง ส่วนเป็นใครระดับรองอธิบดีแต่ละท่านคงเริ่มรู้ตัวกันแล้ว
ส่วนตำแหน่งอธิบดีที่ทำให้หลายคนเกิดคำถามในใจ คือ การโยก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ไปนั่งอธิบดีกรมอนามัย ทั้งที่ผ่านงานด้านโควิด แต่โยกสลับให้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นเพราะอะไร ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า นพ.สุวรรณชัย เป็นลูกหม้อเก่าทางกรมอนามัย ขณะที่นพ.โอภาส ก็เป็นลูกหม้อเก่าของกรมควบคุมโรค ส่วนพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยไปเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต ก็เป็นบ้านเก่า ประกอบกับพญ.พรรณพิมล เป็นจิตแพทย์อีกด้วย ดังนั้น หากพิจารณาเชิงบวกก็อาจต้องการให้เกิดการพัฒนางานด้านบริหารส่วนอื่นๆ ประกอบกับทุกท่านล้วนเคยเป็นลูกหม้อเก่าทั้งหมด ส่วนอีกมุมก็แล้วแต่การพิจารณา ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล
แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สำหรับพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คาดกันว่า ต้องการให้เดินหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ และการผลักดันสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นอีกกรมที่ถูกจับคู่กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เป็นกรมในการหารายได้เข้าประเทศ และช่วยคนไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การมีผู้บริหารที่มีทิศทางไปในทางเดียวกับเจ้ากระทรวงผู้ออกนโยบายน่าจะเหมาะสมกว่า ประกอบกับช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมจะหมดวาระและจะมีการเลือกประธานบอร์ดอภ. คนใหม่ แทนนพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเป็นอดีตรองปลัดสธ. แต่ล่าสุดได้ยินว่าเป็นท่านปลัด สธ.นั่งเองก็เป็นได้ เพื่อเดินหน้างานที่ต้องประสานทั้งส่วนกระทรวงฯ และอภ. รวมทั้งกัญชาทางการแพทย์ควบคู่กันไปอีกด้วย
“ส่วน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ น่าจะมาจากที่ท่านมีความเชี่ยวชาญการประสานงานกับต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก ซึ่งยังต้องเดินหน้าเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่” แหล่งข่าวฯ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของรองปลัดสธ. 4 ท่าน มี 2 ท่านเดิม คือ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดฯ และนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดฯ มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การบริหาร โดยนพ.ณรงค์ เดิมเป็นรองด้านบริหาร ล่าสุดให้ดูงานกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ ส่วนนพ.ยงยศ เดิมดูงานกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ แต่ล่าสุดให้ดูงานกลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข ส่วนอีก 2 ท่านที่แต่งตั้งใหม่ คือ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่รองปลัด สธ.ด้านบริหาร ส่วน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่รองปลัดสธ.กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ
จากการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร สธ.ครั้งนี้ แน่นอนว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ.มีมุมมองในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข และต้องการให้นโยบายออกมาสู่การปฏิบัติจริงให้ได้ ไม่เพียงแต่นโยบายกัญชาทางการแพทย์ อีกนโยบายที่สำคัญและต้องจับตามองคือ นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ไปศึกษาดำเนินการ เบื้องต้นเลือกทำเฉพาะเขตพื้นที่และไม่ใชทุกโรค แต่จะทำในกลุ่มโรคที่มีการรักษาซับซ้อน...
เกิดคำถามว่า นโยบายนี้จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ เพราะหากยังจำกันได้ นโยบายแรกเริ่มตั้งแต่นายอนุทิน และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีนโยบายนี้ตั้งแต่ต้น คือ นโยบายการดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดรอคอย และลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่า “30 บาทรักษาทุกที่” ย่อมอยู่ในนี้ ส่วนที่ว่าจะลดความแออัดได้อย่างไรนั้น ก็จะอยู่ที่การจัดบริการ ซึ่งก็อยู่ที่การบริหารจัดการทั้งในส่วน สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อรับนโยบายจะถอดออกมาสู่แนวปฏิบัติอย่างไร
แว่วว่า ช่วงสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ หนึ่งในนั้นคาดว่ามีเรื่อง “30บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจนำร่องในพื้นที่บุรีรัมย์ก่อน หากสำเร็จก็ขยายยังพื้นที่อื่นๆต่อไป ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร คงต้องรอแถลงเร็วๆนี้
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- 16 views