เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ ยื่นหนังสือพร้อมหารือผู้บริหาร สธ. ขอบรรจุข้าราชการโควิด-19 เหตุเป็นส่วนหนึ่งที่ปฏิบัติงานสู้โควิด เผยแนวทางช่วยเหลือคาดอยู่ในกลุ่มเยียวยากว่า 3 พันตำแหน่ง แต่ต้องรอการบรรจุรอบ 3 แล้วเสร็จ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 ก.ย. เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขกว่า 20 คน นำโดยนายธีระ แสงสุรเดช ประธานเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ และนายณัฐพิสิษฐ์ อินทะรังษี เลขานุการเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องขอความเป็นธรรมการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19 โดยมีนายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขาฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

นายธีระ กล่าวว่า วันนี้(15 ก.ย.) ทางเครือข่ายฯ ได้มามอบหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์บรรจุพนักงานราชการ/พนักงานกระทรวงสาธารณสุข/ลูกจ้างในสายงานนักสื่อสารประชาสัมพันธ์เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ ได้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์โควิด โดยถือเป็นด่านหน้าในการปฏิบัติงานยังพื้นที่ต่างๆ โดยเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการต่อสู้กับข้อมูลข่าวสาร การต่อสู้กับเฟคนิวส์ต่างๆ สร้างความรู้แก่ประชาชน และยังช่วยลดความขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งพวกตนทำหน้าที่ในการสื่อสารความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการบรรจุเป็นข้าราชการที่ทำงานโควิด พวกตนกลับถูกมองข้าม ทั้งๆที่พวกตนทำงานคู่กับผู้บริหารและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน

“ที่ผ่านมาเราทำงานแบบปิดทองหลังพระ ไม่ได้อยู่หน้ากล้อง ไม่มีใครเห็นวันนี้พวกเราจึงมารวมตัวกัน เพื่อขอร้องให้ท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ในสายงานที่ทำงานกับโควิด-19 มีทั้งหมด 520 ตำแหน่งทั่วประเทศ จึงขอให้พวกเราได้มีสิทธิ์ในการบรรจุข้าราชการครั้งนี้ในตำแหน่ง ดังนี้ 1.นักประชาสัมพันธ์ 2. นักวิชาการโสตทัศนศึกษา 3. เจ้าพนักงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 4.เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา และ 5.นักวิชาการเผยแพร่” นายธีระ กล่าว และว่า นอกจากนี้ การมายื่นหนังสือยังขอให้ช่วยเรื่องโครงสร้างการทำงานของพวกตน เพราะที่ผ่านมาพวกตนถูกแฝงให้ทำหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ จึงอยากให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน มีตัวชี้วัด เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าภายหลังยื่นหนังสือและหารือกับท่านผู้ช่วยเลขาฯรมว.สธ.ได้ข้อสรุปอย่างไร นายธีระ กล่าวว่า จะมีการพิจารณาภายหลังล็อตบรรจุรอบ 3 ของข้าราชการโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในกลุ่มเยียวยาที่เหลืออยู่กว่า 3 พันตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่า นักสื่อสารประชาสัมพันธ์จะได้การบรรจุสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป

เมื่อถามว่ายังมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจการทำงานของนักสื่อสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโควิด-19 นายณัฐพิสิษฐ์ กล่าวว่า หลายท่านอาจสงสัยว่า นักสื่อสารประชาสัมพันธ์ อยู่ส่วนไหนและมีความสำคัญอย่างไรกับงานโควิด-19 ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ในการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ EOC (Emergency Operation Center) นั้น นักสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีภาระงานอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ทำหน้าที่ในส่วนการสื่อสารความเสี่ยง สื่อสารองค์กร อย่างการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เข้ามาใบบริการภายในโรงพยาบาล สื่อสารทั้งแบบเผชิญหน้า ทั้งโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่างๆ ภายในโรงพยาบาล เพจเฟซบุ๊ก เสียงตามสบาย และยังปฏิบัติงาน ณ จุดคัดกรองผู้ป่วยด้านหน้าอาคารผู้ป่วยนอก และทางเข้าอาคารตามที่รพ.กำหนด ไม่ว่าจะเป็ฯการวัดไข้ หยดแอลกอฮอล์เจลให้ผู้ป่วย ญาติ ประชาชน เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้ จะทำหน้าที่ประสานงานกับคลินิกเพื่อรับการตรวจตามแนวทางที่กำหนด

“นอกจากนี้ ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโรค ไม่มีเจ้าพนักงานควบคุมโรค นักประชาสัมพันธ์บางท่านยังทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยกรณีผู้ที่ต้องกักโรค แต่ไม่ยอมกักโรค ซึ่งก็จะเป็นคนกลางในการพูดคุยสื่อสารให้เข้าใจ และยังมีภารกิจงานอื่นๆอีก ทั้งการประสานงานระหว่างผู้บริหารกับหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วย การติดตามลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วย รวมไปถึงออกรับของบริจาคมาตรการป้องกันต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่พวกเรามีส่วนในการปฏิบัติงานโควิดเช่นกัน” นายณัฐพิสิษฐ์ กล่าว