กรมควบคุมโรคเผยข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมาพบ 19 เหตุการณ์ทำบาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศรวม 60 ราย เฉพาะเดือน ส.ค.63 ถึงปัจจุบันเสียชีวิต 8 รายจาก 3 เหตุการณ์
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) จนถึงปัจจุบันปี 2563 พบเหตุการณ์เสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศ 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 60 ราย โดยพบผู้อยู่ในเหตุการณ์ 2-5 ราย มีผู้เสียชีวิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 ของผู้ประสบเหตุทั้งหมด โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง 8 ราย จาก 3 เหตุการณ์ สถานที่เกิดเหตุเป็นบ่อน้ำลึกและแคบ ที่มีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ได้แก่ บ่อบาดาล บ่อบำบัดน้ำเสีย และบ่อน้ำสำรอง โดยสาเหตุหลักเกิดจากการลงพื้นที่ไปเพื่อซ่อมแซม ท่อน้ำ วาล์วน้ำ ปั๊มน้ำ หรือทำความสะอาดในพื้นที่อับอากาศ เหตุการณ์เสียชีวิตต่อเนื่อง เกิดจากผู้ที่พบเห็นต้องการลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ทั้งนี้ เหตุการณ์เสียชีวิตพบมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ จากข้อมูลที่ผ่านมาคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน และพบว่าประชาชนมักลงไปซ่อมแซมบ่อน้ำลึกและแคบเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน การเสียชีวิตจากภาวะอับอากาศมีสาเหตุหลัก 2 ส่วน ได้แก่ การที่ร่างกายขาดออกซิเจนโดยการหายใจเอาอากาศที่มีก๊าซออกซิเจนต่ำ หรือหายใจเอาก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปทดแทนปริมาณก๊าซออกซิเจน จนทำให้เวียนศีรษะ หมดสติ และเสียชีวิตได้ โดยมักจะพบในลักษณะสถานที่ที่มีความลึก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับอีกสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายหายใจเอาอากาศที่มีก๊าซพิษเข้าไป เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หมดสติ และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันการเสียชีวิตจากพื้นที่อับอากาศ คือ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายของสถานที่อับอากาศ เช่น ผู้ที่มีโอกาสทำงานในพื้นที่ลึกและแคบ หรือพื้นที่อับอากาศ แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมในระหว่างการปฏิบัติงาน ที่สำคัญควรสำรวจพื้นที่เสี่ยงในชุมชน โรงงาน ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ก่อนทำการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 674 views