สปสช.ร่วมค้านเลื่อนห้ามใช้ 3 สารเคมีในภาคการเกษตร เผยข้อมูล “กองทุนบัตรทอง” ย้อนหลัง 5 ปี พบผู้ป่วยพิษสารเคมีที่รับรักษาใน รพ. รวมกว่า 1.5 หมื่นคน เฉลี่ย 3 พันคน/ปี รวมเสียชีวิตกว่า 2.7 พันคน ขณะที่ค่ารักษารวมกว่า 77 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอและเรียกร้องให้ยุติการใช้สารเคมี 3 ชนิดในภาคการเกษตร ประกอบด้วย “พาราควอต ไกลโฟเซต” สารเคมีในกลุ่มยาฆ่าหญ้า และ “คลอร์ไพริฟอส” สารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานด้านสุขภาพที่ทำหน้าที่เป็นหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนต่อข้อเรียกร้องนี้มาโดยตลอด
ทั้งนี้ เนื่องด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะต่อเกษตรกรในฐานะกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบสุขภาพโดยตรง ซึ่งจากข้อมูลการรับบริการใน “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ส่งรายงานการรักษาเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากพิษของ 3 สารเคมีในภาคการเกษตร ในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้มีส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตลง
จากข้อมูลย้อนหลังในช่วงเกือบ 5 ปีมานี้ นับจากปี 2559 -2563 (ข้อมูลถึง ก.ค. 63) เฉพาะการรายงานกรณีผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาจากการได้รับพิษสารเคมีปราบศัตรูพืชทั้ง 3 รายการ ที่เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่รวมบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลอื่น มีจำนวนถึง 15,145 คน หรือเฉลี่ย 3,029 คนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิตถึง 2,732 คน หรือเฉลี่ย 546.4 คนต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนรวมกว่า 77.78 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 15.56 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีในภาคการเกษตรนี้ เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“กรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนเลื่อนการห้ามใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำผู้บริหารภายใต้สังกัดกระทรวงออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านนั้น ในฐานะ สปสช.เป็นหนี่งองค์กรสุขภาพขอร่วมสนับสนุน และขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคำนึงถึงอันตรายและสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ รวมถึงปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สปสช. ยังมีการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อลดปัญหาสารเคมีตกค้างในเลือด โดยใช้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินการโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งการคัดกรอง การตรวจวัดค่าสารเคมีตกค้างในเลือด และการให้ความรู้ป้องกันอันตรายจากสารเคมีภาคเกษตร ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศต่างตื่นตัวและได้ใช้กลไก กปท.ร่วมขับเคลื่อน โดยในช่วง 2 ปี (ปี 2562-2563) มี อปท. ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสารเคมีในเลือดถึง 5,397 โครงการ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของ อปท.ต่อปัญหานี้
- 76 views