“นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์” เผยไทยคุมเข้ม 10 จว.ติดเมียนมา และกลุ่มจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย พร้อมให้ข้อมูลหากกลับระบาดรอบ 2 อาจพบการระบาดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ จึงกำชับรพ. คงมาตรการป้องกันติดเชื้อในรพ.

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในเมียนมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องเตรียมการอย่างดีเพื่อป้องกันการมีผู้ป่วยกระเซ็นเข้ามา โดยเน้นคุมเข้ม 10 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา คือ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และกลุ่มจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายมักจะไปทำงาน ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี เป็นต้น

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โดยจังหวัดเหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อม ซักซ้อมจัดระบบการป้องกัน ค้นหา เตรียมระบบรักษาพยาบาล และเตรียมทีมสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายมั่นคง ฝ่ายปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ต้องช่วยกันสอดส่อง ทั้งนี้การเฝ้าระวังไม่เฝ้าระวังแค่ชาวเมียนมาที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มคนไทยที่เดินทางไป – กลับ ไทย เมียนมาด้วย ไม่ว่าจะเข้าไปที่ฝั่งเมียนมานานแค่ไหนก็ตาม ลักษณะอย่างนี้สาธารณสุขจะต้องเข้าไปจัดการ ต้องระบุให้ได้ว่าเป็นใคร ต้องเฝ้าระวังเพื่อค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น เพื่อนำสู่การตรวจจับ ตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้โดยเร็ว

สำหรับ อสต.ก็ต้องช่วยกันสอดส่องว่ามีแรงงานต่างด้าวแปลกหน้าเข้ามาหรือไม่ ผู้ประกอบการต้องไม่รับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเข้าทำงาน ถ้าหากฝ่าฝืนยังรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าทำงาน สถานประกอบการของท่านเองจะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะหากเจอการติดเชื้อจะต้องมีทีมสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยเข้าไปสอบสวนโรค และกำหนดพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะนำมาซึ่งการปิดสถานประกอบการและการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาสมาพันธ์แพทย์อินโดนีเซียออกมาเปิดเผยว่ามีแพทย์เสียชีวิตจากการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ประมาณ 100 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน 28-39 ปี และถ้าดูการกลับมาระบาดรอบ 2 ในประเทศนิวซีแลนด์ เวียดนาม ก็พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรการแพทย์จำนวนมาก ดังนั้นในส่วนของไทย เราไม่เจอผู้ป่วยมาระยะหนึ่ง ถ้าจะกลับมาเจอผู้ป่วยอีกระยะแรกอาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ ตรงนี้ คืออีกหนึ่งจุดแตกหักของการระบาด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำชับโรงพยาบาลต่างๆ ให้คงมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลให้เข้มข้นต่อไป เช่นเดียวกับโรงเรียนต้องเข้มงวดเรื่องการคัดกรองไข้เด็ก และจะต้องกลับไปใช้มาตรการที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเร็ว ซึ่งกรมควบคุมโรคและกรมอนามัยยินดีให้การสนับสนุน

“อย่าถามว่าระบบสาธารณสุขจะรับมือหากมีการระบาดได้หรือไม่ วันนี้ต้องถามว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือได้หรือไม่ ที่ผ่านมาเราสามารถทำได้ดี รอบนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่าปล่อยให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยทุกคนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข เชื่อมั่นในกระทรวงสาธารณสุข และเชื่อมั่นในทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานในรอบนี้ว่าจะยังคงสามารถที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ต่อไป อย่าลืมว่าทุกคนมีส่วนร่วมทุกคนลงเรือลำเดียวกัน เราเตรียมความพร้อมจัดการกับปัญหาให้เร็ว และเป็นไปตามสถานการณ์ไม่ให้ตระหนกหรือตอบสนองเกินกว่าเหตุก็จะเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการกับปัญหาได้ดีส่งผลกระทบกับชีวิตเศรษฐกิจในพื้นที่น้อยที่สุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วย ว่าสำหรับการท่องเที่ยว ภูเก็ตโมเดล และหลายจังหวัดที่มีความพร้อม นั้นอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมบริหารสถานการณ์ คือจังหวัดต้องมีความพร้อมรับมือหากมีผู้ป่วย เพิ่มศักยภาพระบบการควบคุมโรค เพิ่มทีมสอบสวนโรค 3-5 เท่า เตรียมเตียงรองรับ เตรียมการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้เวลาที่เราตั้งความหวังว่าจะออกมาดี ก็ต้องเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เลวร้ายที่สุด ที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่เข้าใจและมีความพร้อม โดยหลักการคือคนต่างชาติที่เข้ามาต้องถูกกักตัว ดังนั้นคนที่เข้ามาต้องมีเวลามากพอ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังอยู่ในข้นเตรียมการในภาพใหญ่ หากพร้อมและเห็นภาพชัดจึงจะเริ่ม.