สอจร. เดินหน้า “จังหวัด-อำเภอ” ถนนปลอดภัย ด้าน รมช.มหาดไทย จี้ผู้ว่าฯ ขยับกลไก ศปถ. คาดโทษท้องถิ่นรับผิดชอบ หากต้นตอเกิดจากความบกพร่องของถนนในเขตรับผิดชอบ
วันที่ 31 ส.ค. แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เดินหน้าโครงการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัดและอำเภอ สู่ท้องถิ่นและตำบลขับขี่ปลอดภัยในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง ปี 2563 เสริมนโยบายศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ตั้งเป้าลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนในทุกตำบล
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความท้าทายการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นเพราะหลายคนมองเป็นเรื่องปกติ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องของบุญของกรรม เชื่อว่าผู้ประสบอุบัติเหตุทำบุญมาน้อย ขณะที่ข้อกำกัดในการดำเนินมาตรการ ที่ผ่านมายังไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่ระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่เมื่อดูจากพื้นที่ความรับผิดชอบแล้ว พบว่าถนนส่วนใหญ่กว่า 6 แสนกิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากเส้นทางทั่วประเทศ 7 แสนกว่ากิโลเมตร จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดอุบัติเหตุทางถนน มากถึง 75% จึงเกิดขึ้นในเส้นทางพื้นที่ความรับผิดชอบของ อปท.
นายนิพนธ์ บุญญามณี
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ด้านการลดความสูญเสียและการเสียชีวิตบนท้องถนน วางเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรเพื่ออุดช่องว่าง ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุระดับท้องถิ่น ไล่ไปตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ เทศบาล และตำบล ผ่านการเร่งรัดไปยัง อปท. และ ศปถ.ระดับจังหวัดและอำเภอ นำความสำเร็จในการบริหารจัดการโควิด19 มาเป็นต้นแบบ โดยในระดับจังหวัด จากนี้ไปจะกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดวาระประชุมประจำเดือนหัวข้อความปลอดภัยทางถนน ให้แต่ละอำเภอรายงานสรุปผลและส่งเอกสารมายังจังหวัด และจังหวัดต้องสรุปรายงานผลมายังกระทรวงมหาดไทย ทุก 3 เดือน ส่วนระดับ อำเภอ ให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะทำงาน ศปถ.อำเภอ ด้วยการดึงเอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เข้ามามีบทบาท และกำหนดให้มีการประชุมติดตามงานกันทุกเดือน
“ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้จากพื้นที่ชนบท ได้กลายเป็นชุมชนเมืองกันหมดแล้ว มีการจราจรหนาแน่นขึ้น และเมื่อถนนดีขึ้นคนก็ขับเร็วมากขึ้นด้วย เมื่อท้องถิ่นละเลยไม่ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาปรับปรุงถนนให้ปลอดภัย รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น จากนี้ไปท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับสัญญาณจราจร สัญญาณป้าย ไฟกระพริบ อย่าปลอยให้เป็นสี่แยกวัดใจ เมื่อเป็นเจ้าของถนนต้องดูแลถนนให้ปลอดภัย หากปล่อยให้ชำรุด ไม่มีป้ายและสัญญาณบอก ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียชีวิต” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า การกำกับและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้ามาช่วยเสริมของ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ผ่านการผลักดันโครงการลดและป้องกันอุบัติเหตุ โดยเน้นผลักดันกลไกระดับท้องถิ่น ทำให้เริ่มเห็นทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เราสามารถลดการตายลงได้ จาก 22,000 ในปี 2559 เป็น 19,000 ในปี 2562 ดังนั้น เชื่อว่าหากกลไก ศปถ. จังหวัด และ ศปถ. อำเภอ ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยตั้งเป้าคุมยอดการเสียชีวิตบนท้อนถนน ในปีนี้ให้ไม่เกิน 17,000 ราย
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย นายแพทย์ทรงคุณวุฒิประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า โครงการพัฒนากลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัดสู่อำเภอและตำบล มีเป้าหมายดำเนินการใน 9 จังหวัด ในปี 2563 เป็นโครงการต่อเนื่องขยายผลจากโครงการนำร่อง 10 จังหวัดในปีที่ผ่านมา โดยเน้นเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทุกภูมิภาค ดำเนินการลงในทุกตำบล ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกและคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนน มุ่งการแก้ปัญหาการบาดเจ็บ กรณีจากการใช้รถจักรยานยนต์ลงสู่พื้นที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการเพื่อลดการเจ็บ ตาย จากอุบัติเหตุทางถนน
ทั้งนี้ การจะดำเนินงานในตำบลขับขี่ปลอดภัย จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นจังหวัดถนนปลอดภัย 5 ด้าน ตามหลัก Safe Syetem Management ประกอบด้วย 1. ลดเจ็บตาย กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ลงร้อยละ 10 และกำหนดเป็นจังหวัดสวมหมวกนิรภัย 100% 2. ดำเนินมาตรการลดความเร็ว 3. เสริมกลไกจัดการความเสี่ยงหลักที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น 4. ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา และ 5. ถอดบทเรียนความสำเร็จขยายไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายหลัก
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธาน สอจร. กล่าวเสริมว่า พื้นที่ 9 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ จังหวัดขนาดใหญ่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี จังหวัดขนาดกลางและเล็ก 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ยโสธร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ระยอง และจันทบุรี ผ่านกลไกขับเคลื่อนประสานเสริมและติดตามตำบลท้องถิ่น มีการสร้างตัวชี้วัดและต้องดำเนินงานครบ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ผลักดันให้เพิ่มการสวมหมวกนิรภัย 100% ขณะขับและซ้อนรถจักรยานยนต์ เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์ ให้ลดลงมาเหลือ ร้อยละ 20 2. ผลักดันให้เกิดถนนปลอดภัย (ถนน 3 ดาว) พร้อมการจัดการจุดเสี่ยง 3. พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน และ 4. การตั้งด่านสกัดพฤติกรรมเสี่ยงที่ได้ผล คัดแยก คนขับเสี่ยง รถเสี่ยง มาดำเนินการกับเครือข่ายอื่นต่อไป
- 25 views