รพ.หล่มสัก อีกตัวอย่างจัดระบบบริการช่วงโควิด-19 ด้านสปสช.อยู่ระหว่างพิจารณาหางบจ่ายค่าจัดส่งยา-ค่าเทคโนโลยี หวังรพ.ขยายการบริการลดความแออัด พัฒนาระบบบริการ ให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

“จากวิกฤตโควิด รพ.เราได้มีการปรับเปลี่ยนการให้บริการ ลดความแออัด ส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน และที่รพ.สต. หรือคลินิกหมอครอบครัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) นำยาไปให้ผู้ป่วย ทั้งหมดลดความแออัดได้มาก จึงคิดว่าจะมีการสานต่อเพื่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาการบริการต่อไป..” นพ.ศักรินทร์ ธนเกียรติสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กล่าวถึงระบบการบริการช่วงโควิด-19 ระหว่างพาคณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสื่อมวลชนเยี่ยมชมระบบการบริการผู้ป่วยเมื่อวันที่ 13-14 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา

เตรียมจัดส่งยาทางไปรษณีย์

โรงพยาบาลหล่มสัก เป็นอีกโรงพยาบาลที่มีการปรับตัวในการให้บริการผู้ป่วยช่วงโควิด เนื่องจากเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาด การลดความแออัด ลดความเสี่ยงมายังโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการจัดบริการแบบ New normal ขึ้น ทั้ง 1. การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน 2.ส่งยาทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หรือคลินิกหมอครอบครัว จำนวน 32 แห่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ หรือ อสม. นำยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน ส่วนกรณีคนไข้ติดบ้านติดเตียง รพ.สต. ร่วมกับ อสม. เจาะเลือดผู้ป่วยเดือนละ 1 ครั้ง และมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตรวจติดตามต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังใช้แอปพลิเคชัน CG4.0 ในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรสาธารณสุข และอสม. เพื่อติดตามผู้ป่วยที่ส่งต่อให้ติดตามต่อเนื่องที่บ้าน เช่น ปัญหาการรับประทานยา คุณภาพชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ เรายังมีระบบ Telemedicine โดยการใช้ Skype มาเป็นสื่อกลางรับส่งข้อมูลผู้ป่วยระหว่างรพ.หล่มสัก และรพ.สต. ทั้ง 32 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับ Telemedicine นั้น เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟน และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีประจำแต่ละที่ ซึ่งมีตารางหมุนเวียนไปและรับคำปรึกษา โดยตรงกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. โดยไม่ต้องเฝ้าจอคอมพิวเตอร์เหมือนเมื่อก่อน จึงมีการใช้แอปพลิเคชัน Lineแทน ที่สำคัญ จากการบริการช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนให้การตอบรับดี และลดความแออัดลงได้มาก จึงจะมีการขยายการบริการต่อเนื่อง แต่ก็ต้องมีการพัฒนาระบบการบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

นพ.ศักรินทร์ ธนเกียรติสกุล

ขณะที่ นายเอกชัย เชาว์ดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) หล่มสัก ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ที่ผ่านมาได้มีการใช้ระบบออนไลน์มาช่วยในการให้บริการมากขึ้น แต่อย่างการใช้แอปพลิเคชั่น อย่างไลน์ จะมีข้อจำกัดในเรื่องการบอกอาการผู้ป่วย ส่วนใหญ่อาจเป็นญาติ ซึ่งอาจไม่ตรงคำตอบทั้งหมด แต่ถ้าเป็นการวิดีโอคอลที่เห็นหน้าก็จะช่วยได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราจะมีการจัดกลุ่มให้บริการ แบ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ และกลุ่มที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ โดยในกลุ่มหลัง ทาง อสม. และหมออนามัยลงพื้นที่แบบเจอตัวต่อตัว เพราะต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถให้ทุกคนมาใช้ระบบออนไลน์กันได้หมด ดังนั้น ก็ขึ้นกับความพร้อมของครอบครัว แต่ละครอบครัวด้วย

ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 นับเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาล ที่ลดจำนวนผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยการปรับเปลี่ยนระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งการปรึกษาทางไกล ผ่าน Telemedicine และการจัดส่งยาถึงบ้าน และส่งยามาที่ รพ.สต. เพื่อลดระยะการเดินทางของผู้ป่วยลง อย่างการจัดส่งยาใกล้บ้าน เดิมผู้ป่วยจะเดินทางไปรับยายังโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อมีการจัดส่งยาใกล้บ้าน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภาครัฐจะต้องจ่าย

“ขณะนี้สปสช.กำลังพิจารณาว่าจะมีการจ่ายส่วนนี้อย่างไร หากมีการขยายต่อ เราจะจ่ายค่าจัดส่งได้หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่อย่างไร รวมไปถึงค่าเทคโนโลยี อย่างการปรึกษาทางไกล จะต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายอย่างไร เดิมเป็นการเหมาบริการ แต่ตรงนี้อาจไม่ได้ เพราะต้องพิจารณาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการศึกษาติดตามว่า ค่าใช้จ่ายควรเป็นเท่าไหร่ หากไม่พอ ก็ต้องเสนอรัฐบาลว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับคุณภาพ” นพ.ประจักษวิช กล่าว และว่า แต่ที่มั่นใจคือยาที่จัดส่งต้องคุณภาพไม่ต่างกัน เหมือนกับการมารับ ในรพ. เพราะรพ.สต. ไม่ได้มีเภสัชกรดูแลทุกแห่ง ต้องมั่นใจคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญ และไม่ใช่ยาทุกตัวที่ทำแบบนี้ได้ ต้องพิจารณาแยกตัวยาอีก อันไหนไม่ได้ก็ต้องไปที่รพ. แต่โดยหลักการเราสนับสนุนให้เกิดขึ้นในการจัดส่งยาถึงบ้าน แต่ก็ต้องดูรายละเอียดด้วย

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำว่า สิ่งที่สปสช. จะสนับสนุนเชิงระบบ โดยเรื่องใกล้บ้านใกล้ใจต้องเกิดขึ้นให้ได้ แต่คุณภาพต้องไม่แตกต่าง เสริมคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ต้องเดินทางไปไกล ไม่ต้องไปแออัดใน รพ. เราอยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมารับบริการที่ รพ.สต. แทน สิ่งสำคัญต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้ เพราะคนยังเชื่อว่าไปโรงพยาบาลดีที่สุด ดังนั้น ต้องทำให้มั่นใจว่า ตรวจที่ รพ.สต. ก็ได้ ไม่แตกต่างกัน เช่น คนไข้เคยได้รับยาแบบไหน ต้องได้ยาแบบเดียวกัน ก็สร้างความมั่นใจได้ ถึงแม้เราจะบอกว่าตัวยาเดียวกัน แต่คนไข้จับต้องไม่ได้ ก็สร้างความเชื่อมั่นยาก นอกจากนี้ การเจอหมอที่คุ้นเคย อย่างหมอให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลคนเดียวกัน และเรายังมีแฟ้มประจำครอบครัว คือมีรายละเอียดทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านจับต้องได้

“การจัดการที่นี่เป็นระบบมาก บอกหมด อย่างแฟ้มครอบครัว จะมีข้อมูลหมด ใครป่วยเป็นอะไร ได้วัคซีนหรือไม่ อย่างไร รู้กันหมด ดูแลแบบเครือญาติ ที่นี่จึงเป็นรูปแบบตามที่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งหากขยายรูปแบบนี้ไปยังที่อื่นๆได้จะดีมาก ซึ่งเราต้องทำให้ทีมหมอครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ขยายมากขึ้น ซึ่งจากการลงไปพื้นที่สอบถามคนไข้ และญาติ พวกเขาก็ชอบระบบนี้เพราะให้การดูแลแบบเครือญาติ ระบบนี้ต้นทุนไม่มาก แต่ประสิทธิภาพดี” นพ.ประจักษวิช กล่าวทิ้งท้าย

จัดส่งยาถึง รพ.สต.และทาง อสม.จะกระจายส่งยังบ้านผู้ป่วย