สปสช. ระดมความคิดเห็นออนไลน์ ยกระดับผู้ป่วยบัตรทอง รักษาได้ทุก รพ.  ไม่ใช่โรคง่ายๆ  แต่เน้นโรครักษาซับซ้อน มีความเฉพาะ กรณีป่วยไข้หวัด ปวดหัว รักษาใกล้บ้าน หมอครอบครัวเช่นเดิม ระหว่างนี้ปชช.เสนอความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดและรับฟังความเห็นผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์

นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทุกคนได้ดียิ่งขึ้น โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศของเรา

นพ.เจษฎา โชคดำรุงสุข ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความเห็นฯ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการรับฟังความเห็น ทางอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อมูลเป็นหมวดหมู่เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมอบหมายให้อนุกรรมการแต่ละคณะที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ โดย สปสช.จะติดตามและประเมินผลว่างานต่างๆ ก้าวหน้าไปเพียงใด และนำกลับมาเสนอต่อประชาชน

นพ.เจษฎา โชคดำรุงสุข

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ในปีนี้มีความชัดเจน ซึ่งในประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานโดยตรงนั้นสามารถดำเนินได้ทันที และหลายข้อเสนอเป็นทิศทางเดียวกับที่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ไว้ เช่น การเร่งรัดให้เกิดศูนย์ประสานงานต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นนโยบายยกระดับผู้ป่วยบัตรทองรักษาได้ทุกรพ. นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า มีการเสนอความคิดเห็นเข้ามาจำนวนมาก โดยการรักษาได้ทุก รพ. มีทั้งเห็นด้วย และมีทั้งข้อพึงระวัง ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ดี มีเหตุมีผล เป็นการนำเสนอที่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การรักษาโรคมะเร็งสามารถรักษา รพ.ทุกแห่ง ที่ไหนก็ได้ อันนี้ก็น่าสนใจ เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การรักษาได้ทุกรพ. จะไม่ขัดกับการรักษาใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) คลินิกหมอครอบครัวยังคงเป็นเรื่องสำคัญและต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.กำชับเรื่องนี้ว่า อะไรจำเป็น โรคที่มีความจำเพาะควรต้องรักษาที่ไหนก็ได้ เพราะปัจจุบันรพ.ใหญ่ๆมีเทคโนโลยีการรักษากันหมดแล้ว

เมื่อถามอีกว่า แสดงว่าการรักษาได้ทุก รพ. หมายถึงเฉพาะโรคเฉพาะหรือโรคที่มีความยุ่งยากหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ใช่ มุ่งเน้นเป็นเรื่องการรักษาเฉพาะมากกว่า ไม่ใช่รักษาทุกโรค อาจเริ่มทดลองเฉพาะโรค เฉพาะพื้นที่แล้วค่อยมาประเมินว่า จะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครป่วยเล็กน้อย เป็นไข้หวัดก็เดินไปรักษาได้ทุกแห่งก็ไม่ใช่ เพราะเรามีนโยบายหมอครอบครัว มีรพ.สต. คอยให้คำปรึกษา รักษาอยู่แล้ว แต่โรคยุ่งยากมากขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทางสปสช. จะต้องพิจารณางบประมาณ ประสานความร่วมมือต่างๆ ทั้ง ส่วน สธ. รพ.ทั้งรัฐ และภาคเอกชน รวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งขณะนี้ยังสามารถส่งความคิดเห็นเข้ามาได้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. ให้เร็วที่สุด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่ดีในหลายเรื่อง เช่น การขยายรูปธรรมโรคของสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่เพิ่มขึ้น การให้มีหน่วยร่วมบริการในระบบการดูแลระยะยาวฯ (LTC) โดยเฉพาะในวัด รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสำนักงานฯ และผู้ให้บริการจะหารือกันเพื่อแก้ปัญหาต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอหลายเรื่องที่ได้รับจะถูกนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบายและกฎหมายต่อไป

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ซึ่งมีการพัฒนาเว็บไซต์ https://hearing.nhso.go.th/ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา โดยโปรแกรมจะจัดหมวดหมู่ความเห็น เพื่อนำไปเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังสามารถติดตามความก้าวหน้าของข้อเสนอต่างๆ ว่าได้ถูกพัฒนาไปเพียงใด นับเป็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในปีนี้

สำหรับข้อเสนอที่ได้รับจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ในครั้งนี้ อาทิเช่น การให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ชดเชยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซ้ำ, สนับสนุนจัดตั้งห้องปฏิบัติการจำลองการใช้ชีวิตประจำวันอย่างอิสระ (Independent Living Room) ในกลุ่มผู้ป่วยบริบาลฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง รวมถึงการให้สิทธิในการดูแลผู้ป่วยบริบาลระยะกลางเท่าเทียมกันในทุกสิทธิการรักษา เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอให้ขยายสิทธิประโยชน์ยานอกบัญชีในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้, พัฒนาระบบการส่งต่อที่มีความสะดวกรวดเร็ว ครอบคลุมกลุ่มประชาชนและการให้บริการ, เพิ่มบริการฉุกเฉินให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ไม่เฉพาะกรณีเจ็บป่วยเท่านั้น, ขยายการรับบริการให้สามารถเข้าโรงพยาบาลอื่นได้โดยไม่ต้องมีหนังสือส่งตัว ตลอดจนการให้ สปสช.ทำหน้าที่ผลักดันการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบให้เป็นระบบเดียว ลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล

ในส่วนข้อเสนอประเด็นของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้แก่พระสงฆ์ที่เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา, เพิ่มช่องทางพิเศษให้แก่พระสงฆ์ในทุกโรงพยาบาล, ขยายบริการการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเข้าไปถึงในวัด, พัฒนาศักยภาพของวัดให้สามารถรองรับการดูแลพระที่ป่วยระยะสุดท้ายได้, การสนับสนุนการทำงานระหว่างศูนย์ประสานงานวิถีพุทธ เชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในการให้รวมกองทุนย่อยต่างๆ ซึ่งในบางกองทุนอาจมีการบริหารจัดการและกลุ่มเป้าหมายที่ทับซ้อนกัน, อบรมคณะกรรมการกองทุนตำบลให้มีความรู้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ, สนับสนุนภาคประชาชนเข้าถึงแหล่งงบประมาณได้มากขึ้น, มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ติดตามการทำงานของตำบลให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเสนอเพิ่มค่าดำเนินการโครงการรับยาใกล้บ้าน โมเดล 3 เป็นต้น

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

ภาคประชาชนเสนอ 3 ประเด็นหลัง “อนุทิน” ยกระดับบัตรทองรักษา รพ.ได้ทุกแห่ง

“อนุทิน” ยกระดับบัตรทอง คนไทยต้องรักษาได้ทุก รพ. ไม่มีคำว่า ผู้ป่วยอนาถา