“สาธิต” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายดันสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองติดเชื้อซิฟิลิสให้คู่รักที่วางแผนมีบุตร และเสนอการรักษามีบุตรยากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรงงาน ศึกษาธิการ การอุดมศึกษาฯ มหาดไทย ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม
นายสาธิต ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากลไกการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นกลไกหลัก โดยได้ทบทวนองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ รวมถึงการพิจารณากรอบการประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ระยะครึ่งแผน ซึ่งได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำผลมาใช้กำหนดทิศทางการดำเนินงานในรอบครึ่งแผนหลัง (พ.ศ. 2565 - 2569)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย
ข้อเสนอที่ 1 การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนมีบุตรให้ประชาชนทุกสิทธิ โดยเพิ่มการตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL) ให้กับคู่รักที่วางแผนมีบุตร หรือตามพฤติกรรมเสี่ยงและดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากซิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.04 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 0.41ในปี 2562 แม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อสู่ลูก โดยพบว่า ในปี 2562 มีเด็กป่วยด้วยโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิด 509 ราย ทำให้เด็กเติบโตช้า พิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิต ซึ่งการตรวจเมื่อตั้งครรภ์จะช้าเกินไป และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการคัดกรองก่อนตั้งครรภ์
ข้อเสนอที่ 2 จากการศึกษาอัตราการเกิดของประชาชนกรไทยพบว่าลดลงจาก 766,370 คน ในปี 2553 เหลือ 618,193 คน ในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือปีละ 700,000 คน เนื่องจากทัศนคติการมีบุตรเปลี่ยนไปและส่วนหนึ่งเกิดจากภาวการณ์มีบุตรยาก ดังนั้น เพื่อให้มีการเกิดเพิ่มมากขึ้นจึงได้ผลักดันให้ภาวะมีบุตรยากให้เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรได้รับการรับรองว่าเป็นโรคและมีสิทธิในการลาป่วยเพื่อเข้าถึงการรักษา รวมถึงควรให้สิทธิการตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก หากพบนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเพิ่มการเกิดของประชากร โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดรูปแบบและสิทธิอีกครั้ง คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด โดยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ฯ พิจารณาดำเนินการ เพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอแนะต่อไป
- 167 views