“หมอธีระ” ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ทั้งการป้องกันระดับบุคคล ระดับประเทศ การรักษาและป้องกัน พร้อมคาดการณ์ความเสี่ยงการระบาดภายในประเทศไตรมาสสุดท้ายปี 2563

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

********************

ก. เกราะป้องกันระดับบุคคล: อ่อนลงมาก

การใช้หน้ากาก: จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข อัตราการใส่หน้ากากอนามัยลดลงจากเดิม 90% เหลือ 60%

การรักษาระยะห่าง: ลดลงมาก

สืบเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการในระยะล่าสุด ที่เอื้อให้คนใช้ชีวิตตามปกติ ขนส่งสาธารณะนั่งชิดกัน ลิฟต์ตามสถานที่ต่างๆ ยืนเบียดกัน การจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามตลาดมีคนแออัดมากขึ้น คอนเสิร์ตรวมถึงงานบันเทิงต่างๆ มีการเบียดเสียดเยียดยัด ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง

ข. เกราะป้องกันระดับประเทศ: อ่อนลง

แม้จะมีการจัดระยะในการผ่อนคลาย และกำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมกำกับ แต่ในระยะหลัง การตรวจตราและบังคับใช้อาจไม่ค่อยสม่ำเสมอ ทำให้การปฏิบัติหย่อนยานหละหลวม ทั้งในหมู่ประชาชน นักบริหาร ธุรกิจห้างร้านต่างๆ การแง้มประตูประเทศให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยกำหนดกฎเกณฑ์โดยคร่าวนั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากต่อการระบาดซ้ำในสังคมไทยในระยะเวลาอันใกล้

ยกตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานฝีมือ/ทักษะเข้ามาในประเทศ ซึ่งหากหมายรวมถึงครูสอนภาษา และนักกีฬา ตามที่เป็นข่าวว่ามีการนำเข้าครูสอนภาษาจากต่างประเทศเข้ามา แม้จะเป็นไปตามเกณฑ์โดยคร่าวที่ศบค.ตั้งไว้ก็ตาม จะพบว่าเริ่มมีเสียงสะท้อนถึงความจำเป็นว่ามากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อคนไทยทั้งประเทศ

โดยหากเทียบอัตราการตรวจ RT-PCR พบการติดเชื้อ ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.5%, อเมริกา เฉลี่ย 8% (สูงกว่าไทยถึง 16-40 เท่า), อินเดีย 10% (สูงกว่าไทยถึง 20-50 เท่า) เซอร์เบีย 3.4% (สูงกว่าไทย 7-17 เท่า) หรือแม้แต่ ฟิลิปปินส์ 17% (สูงกว่าไทยถึง 34-85 เท่า) ดังนั้น ความเสี่ยงในการนำเข้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศจึงสูงมาก แม้จะมีระบบคัดกรองกักตัวและติดตามเข้มแข็งเพียงใด ก็มีโอกาสหลุดได้ เพียงแต่ว่าจะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ค. อาวุธเพื่อรักษา และป้องกัน: ความหวังมี...แต่ใช้เวลา และประสิทธิภาพอาจไม่สูง เรื่องการวิจัยโรค COVID-19 นั้น กำลังมีการดำเนินศึกษาทางคลินิกกันอยู๋ 2,056 ชิ้นในฐานข้อมูลของ clinicaltrials.gov โดยจำแนกเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับยาอยู่ประมาณ 686 ชิ้น งานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนอยู่ราว 70 ชิ้น ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้น ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการศึกษาอีกนานพอสมควร

แม้บางชิ้นอาจอยู่ในระยะพิสูจน์ผลในการรักษาหรือป้องกัน ก็ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6-9 เดือนกว่าจะสรุปผล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เริ่มออกมาให้ข้อมูลสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น องค์การอนามัยโลกออกมาชี้ว่าวัคซีนต่างๆ ที่ทดลองอยู่นั้นอาจไม่ใช่กระสุนวิเศษที่เราจะหวังมาใช้ป้องกันอย่างได้ผลในระดับสูง และล่าสุด Anthony Fauci และหน่วยงานอย่าง US FDA ก็ได้ออกข่าวมาว่า วัคซีนที่อเมริกากำลังทำนั้น อาจได้ผลในการป้องกันไม่มากนัก อาจอยู่ในระดับ 50% แม้เค้าจะหวังสูงกว่านั้นเช่นระดับ 60-75% ก็ตาม แต่ก็คงต้องรอผลการศึกษาที่จะออกมาปลายปีนี้

บทสรุป: สำหรับรัฐ ศบค. สมช. หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามภาวะปัจจุบัน คาดว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีการระบาดภายในประเทศภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ สิ่งที่ควรทำ คือ

1. ทบทวนเกณฑ์การผ่อนคลายอนุญาตให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ประกาศไปในระยะที่ 5-6 เสียใหม่ โดยประเมิน"ความจำเป็น"ที่จะต้องนำเข้าคนต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย กับประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และควรหาทางส่งเสริมให้ใช้แรงงานในประเทศแทน ทั้งนี้ ความจำเป็นที่กล่าวอ้างโดยหน่วยงานต่างๆ ที่ขออนุญาตนำเข้านั้น ต้องเป็น"ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด" มิใช่"จำเป็นแบบส่วนตัว"

2. ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดทั่วโลกจะแตะ 20 ล้านคนเช่นนี้ ควรยุตินโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด โดยควรทิ้งระยะไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ตามธรรมชาติของโรคระบาดในอดีตที่น่าจะค่อยลงบรรเทาลงใน 6-18 เดือน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

3.ส่งเสริมหน่วยงานระดับนโยบายทุกหน่วยงาน ให้สร้างนโยบายพัฒนาประเทศโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดการพึ่งพาต่างชาติ ยืนบนขาตนเอง

4.ควรวางแผนพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีจุดบริการในทุกชุมชน เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์การระบาดซ้ำในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจได้โดยเร็ว ไม่ใช่จัดที่โรงพยาบาลเท่านั้น

5.ลด ละ เลิก แคมเปญสื่อสารสาธารณะที่จะทำให้ประชาชนประมาท การ์ดตก เช่น ความมั่นใจว่าจะเอาอยู่ การไม่มีเคสในประเทศ ฯลฯ แต่ควรมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการระบาดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ความรู้เกี่ยวกับระบบการตรวจคัดกรองใกล้บ้าน ความสำคัญของการป้องกันตัวและครอบครัว การสร้างจิตสำนึกของทุกคนในสังคมและรณรงค์ให้งดการให้บริการแก่คนที่ไม่ป้องกันตัว รวมถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระยะถัดจากนี้ไปที่ทุกคนจะต้องประเมินอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจรักษา

สำหรับประชาชน: จากข้อมูลข้างต้น พอจะทราบได้ว่า ยาและวัคซีนต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกนานพอสมควร และหากจะได้ผล อาจได้ผลไม่สูงนัก การจะได้ยาหรือวัคซีนมาใช้แบบเดี่ยวๆ เพื่อหวังผลในการจัดการควบคุมโรค COVID-19 นั้นคงจะเป็นไปได้ยาก แต่จำเป็นต้องนำยาหรือวัคซีนนั้นมาใช้ควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านการป้องกันตัวระดับบุคคล คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ เลี่ยงที่แออัด และตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาการติดเชื้อและรีบนำเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อให้หายดีและตัดวงจรการระบาดในชุมชน

สิ่งที่พวกเราทุกคนจะทำได้คือ รักตัวเองและครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตนเองเสมอ ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร และสังเกตอาการตนเอง หากไม่สบายให้รีบไปตรวจครับ... วิเคราะห์สถานการณ์มาเล่าสู่กันฟัง ด้วยความห่วงใยเสมอ ถ้าพวกเราช่วยกันตามบทบาทหน้าที่ที่พึงมี ไม่ตกหลุมพรางของกิเลส ผมเชื่อว่าเราจะสู้กับ COVID-19 ได้ ประเทศไทยต้องทำได้ ด้วยรักต่อทุกคน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9 สิงหาคม 2563