จากข้อมูลเตือนภัยให้ระวังปัญหาเรื่องสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย ที่ส่งต่อๆกันในโซเชียลมีเดียระบุว่า ระวังภัยเสี่ยงมะเร็งด้วยการนำอาหารที่แบ่งทานหลายครั้ง หรือทานไม่หมดจากตู้เย็น มาอุ่นซ้ำๆหลายๆครั้งด้วยไมโครเวฟ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากไมโครเวฟจะเป็นตัวกระตุ้นสารพิษที่อยู่ในอาหารชนิดต่างๆนั่นเอง
ผศ.ดร.สิติมา จิตตินันทน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อโภชนาการ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจงว่า การอุ่นอาหารซ้ำๆด้วยไมโครเวฟ ไม่ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยโรคมะเร็งเท่ากับทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ หรือการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม
ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิของการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวเป็นอุณหภูมิต่ำไม่เท่ากับการปิ้งย่างทอด เพราะ แม้ว่าจะปรับให้แรงสุดของเครื่องไมโครเวฟ แต่อุณหภูมิของการอุ่นอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 100 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการทอดด้วยน้ำมัน จะมีอุณหภูมิสูงถึง 170-180 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งขึ้นได้
“แม้ว่าการอุ่นอาหารซ้ำๆด้วยเตาอบไมโครเวฟจะไม่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่ก็ให้ระวังเรื่องจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลต่อโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร อย่างคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ มากกว่าข่าวปลอมที่ระบุว่าเสี่ยงโรคมะเร็ง ” ผศ.ดร.สิติมา กล่าว
นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อโภชนาการ อธิบายต่อว่า ถ้าวางอาหารที่ปรุงเสร็จไว้ที่อุณหภูมิห้อง จะทำให้โอกาสที่จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ ซึ่งการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ 1-3 นาที ตามชนิดของอาหาร ก็สามารถช่วยลดจุลินทรีย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีการแช่เย็น ก็เป็นตัวช่วยอีกทางในการทำให้จุลินทรีย์ในอาหารไม่เจริญเติบโต และเป็นการถนอมอาหารให้สามารถเก็บได้นานขึ้น
“อาหารที่มีจุลินทรีย์ จะมีสีที่เปลี่ยนไป กลิ่นและรสชาติเปรี้ยวเปลี่ยนไปจากเดิม ถ้าเป็นแกงกะทิจะสังเกตได้ชัดว่า ไม่ใช่เพียงแค่กะทิแยกชั้น แต่จะมีลักษณะข้นและยืดเหนียว หนืดๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าอาหารเสียไม่ควรรับประทานอีก" ผศ.ดร.สิติมา กล่าว
ข้อแนะนำเมื่อทำอาหารในปริมาณมากๆและทานไม่หมดในครั้งเดียว อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า เมื่อปรุงอาหารเสร็จ ควรตั้งทิ้งไว้ให้อุณหภูมิลดลงเป็นอุณหภูมิห้อง จากนั้นจะแบ่งเก็บใส่ถุงแถง มัดถุงให้แน่น หรือกล่องมีฝาปิดมิดชิด หรือจะถุงซิปล็อก หรือ ถ้วยที่ห่อพลาสติกใส่อย่างมิดชิด โดยแบ่งตามปริมาณการทานแต่ละครั้ง เมื่อต้องการทานก็นำออกมาอุ่นและบริโภค
ไม่แนะนำให้นำอาหารมาอุ่นบริโภค มีการตักทานไม่หมดก็นำกลับไปเก็บใหม่ เพราะการที่ช้อนเราตักบริโภคแต่ละครั้งทำให้อาหารส่วนนั้นมีโอกาสปนเปื้อนจุลินทรีย์ จึงควรทานให้หมดเป็นส่วนๆไปจะเป็นการถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้ทานได้นาน ยิ่งถ้าแช่ในช่องแช่แข็ง ยิ่งทำให้ถนอมอาหารได้นานกว่าช่องธรรมดา” ผศ.ดร.สิติมา แนะนำไว้
- 4248 views