ติดตามผลการสอบสวนการข้อเท็จจริงทั้งกรณี 186 รพ. -รพ.ขอนแก่น รับเงินบริจาคบริษัทยา พร้อมเปิดข้อกล่าวหา-คำชี้แจงที่ผ่านมากรณี “หมอชาญชัย” หลังพบสำนวนสอบสวนหลุด

ยังคงติดตามกันต่อจากกรณีการสอบสวน 186 รพ.ที่ถูกนักวิชาการอิสระ อดีตผู้บริหารบริษัทยาทำการสำรวจพบว่ามีการเรียกรับเงินผ่านเงินบริจาค กระทั่งหลายคนมีการเชื่อมโยงว่า กรณี นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น ที่ถูกปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งย้ายมาที่ส่วนกลาง ประเด็นหลัก มาจากเงินบริจาค เนื่องจากมีบัตรสนเท่ห์ออกมา จนมีคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 ระบุสาเหตุการย้าย ว่า มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่า นพ.ชาญชัย มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง ประกอบกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เห็นว่า มีพฤติกรรมข่มขู่จูงใจให้เกิดพยานหลักฐานที่เป็นเท็จ จึงเห็นควรให้ย้ายออกจากรพ.ขอนแก่น

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ.ออกหนังสือกำชับรพ.สังกัดทั่วประเทศเรื่องรับเงินบริจาค ให้ทำได้ 3 กรณี คือกรณีที่ 1 เป็นการรับบริจาคเงินที่มีผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการของโรงพยาบาล กรณีที่ 2 เป็นการรับบริจาคที่มีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาล กรณีที่ 3 เป็นการรับบริจาคตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่โรงพยาบาลดำเนินการจัดให้มีการเรี่ยไรขึ้น ซึ่งทั้ง 3 กรณีดังกล่าวมีระเบียบกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ชัดเจน โดยการดำเนินการจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะต้องบริจาคด้วยความสมัครใจ ไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีภาระผูกพัน หรือข้อเรียกร้องใดแก่โรงพยาบาล ( อ่านต่อ : ปลัดสธ.ออกหนังสือถึง รพ.ทั่วประเทศรับบริจาคเงินได้ 3 กรณี)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับเงิน และการออกใบเสร็จรับเงินของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2527 พ.ศ.2563   โดยระเบียบนี้เป็นส่วนของเงินบำรุง    อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าอย่างไรเสีย ยังคงต้องรอผลการสอบสวน 186 รพ.ที่มี นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ เป็นประธานสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ขณะที่ รพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นรพ.ที่ถูกกล่าวหาเรื่องรับเงินบริจาค ก็น่าจะได้ข้อสรุปในส่วนนี้ได้ รวมไปถึงคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ที่มีพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 5 เป็นประธานสอบฯ อยู่ระหว่างสอบเรื่องนี้กรณีนพ.ชาญชัย ที่ถูกกล่าวหาจนต้องมีคำสั่งถูกสั่งย้าย

วันที่ 21 ก.ค. แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระหว่างการรอผลการสอบสวนก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีข้อกล่าวหา นพ.ชาญชัย ออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดแรก ที่มี นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เป็นประธานสอบ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แม้กระทั่ง นพ.ชาญชัย ขอข้อมูลผลการสอบยังไม่ได้รับจนบัดนี้ แต่น่าสังเกตว่า ประเด็นข้อร้องเรียนนพ.ชาญชัย กลับยังมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเงินบริจาค แต่ยังมีเรื่องเงินสวัสดิการร้านค้า การเข้าออกของบัญชี สมุดบัญชีหาย ซึ่งทราบว่าข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว และหลายอย่างตีตกไป โดยประเด็นหลักคือการรับเงินบริจาคไม่ใช่หรือ หากประเด็นไหนตกไป ไม่มีมูล แต่มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวน ซึ่งบอกว่าเป็นความลับ แต่มีการขุดมาตีแผ่อีกจะเป็นการผิดระเบียบหรือไม่

ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมประเด็นข้อกล่าวหา และข้อโต้แย้งที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ อาทิ

1.กรณี นพ.ชาญชัย เรียกเก็บเงินจากบริษัทยาร้อยละ5 ทั้งที่ข้อเสนอของ ป.ป.ช. และกระทรวงสาธารณสุขให้ยกเลิกการเก็บเงินลักษณะดังกล่าว แต่ปรากฏยังเรียกเก็บ และนำเข้าบัญชี “กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น”

ชี้แจง : นพ.ชาญชัย เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข หลังจากถูกย้ายมาส่วนกลาง ถึงกรณีนี้ ว่า เงินบริจาคนั้นแล้วแต่ผู้บริจาคว่าจะเข้ากองทุนไหน โดยระเบียบระบุว่าใครบริจาคก็เข้ากองทุนบริจาคของโรงพยาบาล ตั้งระเบียบประมาณเดือน มิ.ย.2561 แต่กองทุนพัฒนารพ. เปิดมาตั้งแต่ปี 2560 และมติ ครม. ซึ่งเสนอโดยป.ป.ช. ออกมาเดือนมี.ค.2561 แต่ระเบียบเงินบริจาคออกช่วงเดือน มิ.ย.2561 สืบเนื่องจากเงินกิจกรรมก้าวคนละก้าว ของคุณตูน บอดี้สแลม ตอนนั้นนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนั้น ได้หารือกรมบัญชีกลาง และ ปลดล็อกระเบียบเงินบริจาคให้สามารถบริจาคได้ โดยตั้งขึ้นมา มีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างชัดเจน

“ ช่วงเงินจากกิจกรรมก้าวคนละก้าว เดิมเราเปิดบัญชีผิด ใช้ชื่อว่า ก้าวคนละก้าว เราต้องเปลี่ยน เป็นเงินบริจาคของโรงพยาบาลขอนแก่น และเมื่อเดือน พ.ย. 2561 เราปิดกองทุนทุกกองทุนให้ไปอยู่ในร่มของกองทุนบริจาคโรงพยาบาลขอนแก่นทั้งหมด ผมมีเจตนาทำตามระเบียบโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้น อย่าได้คลางแคลงใจ จะเห็นได้ว่าระเบียบเหลื่อมกัน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยการบริจาคจะมี 3 อย่างเท่านั้น คือ 1.เงินสวัสดิการตามระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรี สามารถบริจาคเข้าได้ 2. เงินบริจาคของรพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเงินบำรุง ลดหย่อนได้ 2 เท่า และ 3.เงินมูลนิธิรพ.ขอนแก่น ลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ”

(กรณีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนวินัยร้ายแรง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะอยู่ในการสอบสวนควบคู่กรณี 186 รพ.)

อ่านต่อ : “หมอชาญชัย” เปิดไทม์ไลน์รายละเอียดระเบียบเงินบริจาค รพ.ขอนแก่น

 

2.กรณีร้านค้าสวัสดิการ รพ.ขอนแก่น เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่า ร้านสวัสดิการร้านค้าเปิดเพียง 5 เดือน กลับอ้างผลกำไร 6.69 ล้านบาท และสั่งจ่ายเจ้าหน้าที่คนละ 2,000 บาท สั่งจ่ายจำนวน 3,433 คน รวม 6,866,000 บาท และในบัญชีของสวัสดิการร้านค้านั้นไม่มีเงินสดเหลือในมือ เนื่องจากกำไรก็คือมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่นพ.ชาญชัย กลับให้โอนเงินจากกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น มาให้เจ้าหน้าที่

ชี้แจง : ที่ผ่านมา นพ.ชาญชัย รวมทั้งบุคลากรรพ.ขอนแก่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า ร้านค้าสวัสดิการเดิมมีคนทำผูกขาดมา 15 ปี เดิมจะประมูลให้เอกชนมาทำ แต่จากการสอบถามบุคลากรขอนแก่น และทำงานผ่านคณะกรรมการก็พบว่า รพ.ควรทำเองในรูปแบบร้านค้าสวัสดิการของ รพ. โดยทำเป็นแบบกึ่งธุรกิจ คล้ายร้านสะดวกซื้อ โดยได้ขออนุญาตทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมีการอนุมัติให้ทำได้ จากนั้นก็ฟอร์มทีมค้าขาย เอาต้นแบบจากร้อยเอ็ด มีกรรมการดำเนินงาน จากนั้นนำสินค้ามาขาย และจ้างพนักงานขาย โดยวันแรกขายได้วันละ 2 แสน กำไร 20% ตกกำไรเดือนละล้านกว่าบาท และเมื่อได้กำไรตามวัตถุประสงค์ก็เพื่อสวัสดิการเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ทุกคนถือหุ้นเท่ากันหมด คนละ 1 หุ้น เพื่อปันผลเท่ากันหมดไม่ว่าใครก็ตาม ส่วนที่ปันผล 2,000 บาทก็เงินนี้ และตอนที่มีมติปันผลนั้น เป็นช่วงปิดปีงบประมาณ อยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่มีเงินสดอยู่

“ร้านค้าสวัสดิการไม่ได้เปิด 5 เดือน แต่เปิดตั้งแต่ 29 พ.ย.2561 และได้กำไรเดือนละ 1 ล้านกว่าบาท หากคิดการปันผล 5 เดือน มีเงินสด 4 ล้านกว่าบาท มีสินค้ามูลค่า 3 ล้าน ซึ่งวางแผนจะจ่ายปันผลเดือน ต.ค. แต่พอดีเป็นสิ้นปีงบประมาณ จึงต้องปิดเดือนที่ 6 ก่อน ซึ่งเมื่อเห็นว่ามีกำไร เราก็วางแผนกระตุ้นยอดขาย ให้มีเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วม และรู้สึกรักองค์กร โดยวางแผนให้ผู้เกษียณได้รับเงินปันผลส่วนนี้ด้วย โดย 5 เดือนกำไรเงินสดและสินค้า 6 ล้านกว่าบาท และเดือนที่ 6 คือ ก.ย.61 ได้ปิดบัญชีหลังสิ้นเดือนประมาณ 5 วัน ซึ่งชัวร์ว่ามีเงินเพียงพอ จึงจ่ายเลย และบันทึกขอยืมเงินกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น เมื่อปิดบัญชี 6 เดือน ซึ่งเราได้กำไร 8 ล้านกว่าบาท และคืนเงินเข้ากองทุนพัฒนาฯ ซึ่งตรงนี้มีข้อมูลตรวจเช็กได้หมด โดยการดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายรพ.ขอนแก่น เริ่มตั้งแต่กรรมการร้านค้าชุดเล็ก และอนุกรรมการ จากนั้นก็มาคณะกรรมการนโยบายฯ”

3. กรณีการส่งมอบงานต่อรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเงินงบประมาณ พบมีสมุดบัญชีหายไป 1 เล่ม คือ กองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น

ชี้แจง : แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากนพ.ชาญชัย ถูกย้ายและต้องออกจากรพ.ขอนแก่น จึงได้ทำหนังสือปะหน้าในการส่งมอบ เนื่องจากฝ่ายการเงินทำเอกสารไม่ทัน โดยเซ็นต์ปะหน้าก่อน เนื่องจากถูกย้ายด่วน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เซ็นต์ย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ส่วนสมุดบัญชีที่บอกว่า หายไปนั้น ไม่มีหาย สามารถไปติดต่อธนาคารขอดู Statement ย้อนหลังได้ การแจ้งความเพื่อขอสมุดบัญชีเล่มใหม่ก็ทำได้ แต่กรณีตรวจสอบได้หมด ว่าเงินเข้าบัญชีใคร เข้าบัญชีส่วนตัวหรือไม่ ตรวจสอบได้ หากผิดก็ว่าไปตามผิด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่ต้องรอ คือ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ที่มี พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ เป็นประธาน เพื่อให้ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วการบริหารงาน ของ นพ.ชาญชัย นั่งผอ.รพ.ขอนแก่น มีการเรียกเงินบริจาคจากบริษัทยาแบบมีเงื่อนไข จริงหรือไม่ ซึ่งผลการสอบสวนอาจไม่แตกต่างจาก 186 แห่งเพราะเป็นเรื่องรับเงินบริจาคเช่นกัน ยกเว้นว่า มีการนำเงินบริจาคเข้ากระเป๋า หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่หากไม่ได้รับ ก็ต้องพิจารณาว่า ข้อกล่าวหาอื่นๆมีมูลความจริงอย่างไร และถึงขนาดการกล่าวหาว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่

พราะอย่างไรเสีย ในยุคของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เจ้ากระทรวงที่รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า งานนี้ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ใครผิดต้องว่ากันไปตามผิด ไม่มีเรื่องความสนิทสนมส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง หากเป็นเช่นนั้น ต้องถือว่าธรรมาภิบาลย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน..