ประชุม กก.สอบข้อเท็จจริง 186 รพ.เรียกรับเงิน 5% ยังไม่ได้ระบุใครผิด หรือผิดจริงหรือไม่ ล่าสุดนักวิชาการอิสระ เปิดเผยข้อมูลยื่นรายชื่อเพื่อตรวจสอบเชิงลึกแล้ว ส่วนวันที่ 26 มิ.ย.จ่อเรียกรพศ.รพท. และรพช.เข้าให้ข้อมูล
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงพยาบาล 186แห่งรับเงิน 5% ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยได้เชิญ นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ และอดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เข้ามาให้ข้อมูล เนื่องจากเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
นายมนู กล่าวภายหลังการเข้าให้ข้อมูลว่า เป็นการเข้ามาให้ข้อมูลในส่วนที่เคยระบุว่ายังมีรพ.รับเงินบริจาคหรือเงินสวัสดิการ 5 %จากบริษัทยา ซึ่งได้มีการยื่นรายชื่อรพ.ทั้งหมดให้กับคณะกรรมการฯแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่ามีบริษัทยาแห่งใดบ้างที่จ่ายให้กับรพ. และขอไม่เปิดเผยรายชื่อต่อสื่อมวลชน ระบุได้แค่เพียงว่าอยู่ใน 49 จังหวัดเท่านั้นเพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการฯเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ ขอให้คณะกรรมการฯมีการสื่อสารไปยังรพ.และบริษัทยาให้เข้าใจหลักการคิดเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ว่าไม่ใช่เงินบริจาค เพราะเงินบริจาคนั้นตามระเบียบของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 ระบุว่าเงินบริจาคต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากมีเงื่อนไขในการบริจาคจะไม่เรียกเป็นเงินบริจาคแต่จะเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
“เงินในรพ.มี 3 ตะกร้า คือ เงินหลวง เงินหลวงโดยเอกชน และเงินเอกชน 100 % ซึ่งเงินจากบริษัทยา 5 %ที่เดิมเป็นเงินส่วนลดก่อนมาเป็นเงินสวัสดิการ ก็ถือเป็นเงินส่วนลด ซึ่งหลักการของป.ป.ช.ในการจัดซื้อยาที่ใช้เงินหลวง ถ้ามีเงินส่วนลดจากการจัดซื้อยาก็จะต้องนำเข้าตะกร้าที่เป็นเงินหลวงหรือเงินบำรุงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ารพ.และบริษัทยายังเข้าใจสับสนเกี่ยวกับเงิน 5 % และเงินบริจาค จึงยังมีการตีความที่สับสนแบบงงๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจโดยด่วน หรืออาจจะออกเป็นแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้” นายมนูกล่าว
นายมนู กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อคณะกรรมการฯใน 2 รูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นแบบซ้ำวนไปวนมา ได้แก่ 1.หากบริษัทยาอยากที่จะบริจาคให้กับรพ.จะต้องผ่านกลไกการบริจาคของกระทรวงการคลังที่ดำเนินการเช่นเดียวกับโรงเรียนและวัด และ2.ในการจ่ายเงินค่ายานั้น รพ.ควรที่จะมีการโอนเงินค่ายาให้กับบริษัทยาโดยตรง ไม่ต้องให้พนักงานเป็นคนเข้าไปเก็บเงินที่รพ. เพื่อป้องกันการมีข้อแม้ว่หรือข่มขู่ให้ต้องบริจาคก่อนการจ่ายเงินค่ายา อีกทั้ง ได้ยกตัวอย่าง 2 องค์กรที่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด โดยองค์กรแรกเป็นกลุ่มแพทย์ที่ออกมาประกาศว่าจะจัดซื้อยาในราคาสุทธิเท่านั้น และอีกองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการประกาศยกเลิกไม่จ่ายเงิน 5 %ให้รพ.ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายลดลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เงิน 5 %เชื่อมโยงว่าบริษัทยาแห่งใดจะเป็นผู้ชนะและได้สิทธิ์ในการขายยาให้รพ.แห่งนั้นด้วยหรือไม่ นายมนู กล่าวว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างยานั้นในปัจจุบันมีระบบที่ดีมากอยู่แล้ว เป็นกลไกของการประมูล ไม่มีการล็อคสเปก บริษัทยาแห่งใดเสนอราคาได้ต่ำที่สุดก็เป็นผู้ชนะกาประมูล เพียงแต่ในขั้นตอนของการยื่นซองประมูลก็จะมีการโทรศัพท์ไปยังบริษัทที่ยื่นซองประมูลว่าจะจ่าย 5 %หรือไม่ แม้ว่าบางบริษัทจะตอบยินดี หรือตอบไม่ยินดี และบริษัทที่ตอบยินดีจ่ายอาจจะไม่ใช่บริษัทที่ชนะการประมูล แต่แค่การโทรศัพท์ไปก็ถือเป็นการผูกเงื่อนไขแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าสรุปแล้ว 186 แห่งยังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ เพราะการเปิดเผยออกมาทำให้เข้าใจว่าผิดไปแล้ว นายมนู กล่าวว่า ไม่ผิด เพราะอันนี้เป็นการสำรวจแบบกว้าง ต้องให้มีการตรวจสอบกันต่อไป
ต่อมาเวลา 16.30 น. นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวภายหลังประชุม ว่า นายมนู ได้มาให้ข้อมูลและชื่อของโรงพยาบาลทั้ง 186 แห่ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแบบ แต่ไม่ได้สำรวจทั้งประเทศเป็นการสำรวจบางจังหวัดเท่านั้น ดังนั้น ทางกรรมการฯ จะมีการหาความชัดเจนโดยการดูจากข้อมูลเบื้องต้นของนายมนู และภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการทำหนังสือไปสอบถามกับโรงพยาบาลทั่วประเทศให้มากที่สุดไม่ใช่เฉพาะ186 แห่งเท่านั้น เพื่อดูว่าแต่ละโรงพยาบาลมีหลักในการจัดตั้งเกี่ยวกับการรับบริจาคหรือกองทุนสวัสดิการต่างๆว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้างทำตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือไปขอข้อมูลจากรพ.ต่างๆไม่ได้ต้องการเอาผิดแต่ต้องการรู้ถึงแนวทางปฏิบัติของแต่ละแห่งว่ามีการทำที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะยังมีบางส่วนที่ทำไม่ถูกต้องก็ต้องดูว่าเพราะไร เป็นต้น
นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวต่อว่า โดยในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ทางกรรมการฯจะมีการประชุมกันอีกครั้ง โดยจะมีการเชิญ 2 กลุ่มมาให้ข้อมูล คือ กลุ่มโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) และประธานโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) มาร่วมประชุม และเท่าที่ทราบทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีการทำมาตรการเพื่อดูแลควบคุมเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครอยากทำผิด
เมื่อถามว่าโรงพยาบาลที่มีชื่อทั้ง 186 แห่งผู้บริหารถือว่ามีความผิดหรือยัง นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ยังไม่มีความผิด
เมื่อถามต่อว่ากรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ย้าย นพ.ชาญชัย ผอ.รพ.ขอนแก่น เป็นเพราะการรับเงิน 5% ดังนั้นผู้อำนวยการทั้ง 186 แห่ง ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ได้ระบุว่าเป็นผอ.ท่านใด และการสำรวจก็บอกว่าเป็นแนวโน้มจึงยังเอาผิดใครไม่ได้
- 15 views