กรมควบคุมโรคเผยกรณีเด็กชายมาเลเซีย ไม่พบเชื้อโควิด19 แต่ตรวจครั้งแรกพบเชื้อพบว่า เป็นผลบวกปลอม สามารถเกิดขึ้นได้ จึงต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันซ้ำ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 63 ว่าพบเด็กชายชาวมาเลเซียติดเชื้อโควิด 19 ภายหลังเดินทางออกจากไทย หลังมาเยี่ยมญาติในพื้นที่จังหวัดสงขลา นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 จ.สงขลา) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมีการประสานงานผ่านกลไกของกฎอนามัยระหว่างประเทศ กับประเทศมาเลเซีย เพื่อสอบสวนโรคและตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมทันที
จากข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่ากรณีนี้เป็นเด็กชาย อายุ 12 ปี สัญชาติมาเลเซีย มีประวัติเดินทางเข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 63 พร้อมมารดาและพี่สาวอีก 1 คน เพื่อมาเยี่ยมญาติที่จังหวัดสงขลา ทั้งหมดมีประวัติอาศัยอยู่ที่บ้านญาติดังกล่าว และได้เดินทางกลับไปที่มาเลเซียในวันที่ 25 มิ.ย. 63 เมื่อเข้าสู่ประเทศมาเลเซียได้รับการตรวจ COVID-19 ด้วยวิธีการตรวจ RTK (Rapid test Antigen) โดยการทำ Nasopharyngeal swab เก็บตัวอย่างและทราบผลตรวจในวันเดียวกัน โดยผลตรวจของมารดาและพี่สาว ไม่พบเชื้อ ส่วนผลตรวจของเด็กชาย ผลเป็นบวก และส่งตัวไปที่โรงพยาบาลในมาเลเซีย
ทั้งนี้ หลังจากได้รับรายงานดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสคร.12 จ.สงขลา ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการสอบสวนโรคในพื้นที่ดังกล่าวทันที โดยได้ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-CR ที่ห้องปฏิบัติการของสคร.12 จ.สงขลา จำนวน 35 ราย และเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนในชุมชน รวมถึงเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยปอดอักเสบที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่นกัน ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้ง 35 ราย ผลคือไม่พบเชื้อแต่อย่างใด
“ส่วนเด็กชายรายดังกล่าว ได้มีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับทางมาเลเซีย โดยมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง และได้รับแจ้งว่าทราบผลตรวจแล้ว คือไม่พบเชื้อโควิด 19 ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวที่มีการตรวจ RTK (Rapid test Antigen) พบเชื้อในครั้งแรก นั้น พบว่าเป็นผลบวกลวงหรือผลบวกปลอม (False Positive) หมายถึง ผลการตรวจเป็นบวก แต่บุคคลนั้นไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 จริง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง”นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคของทั้งสองประเทศ ที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 10 views