เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง – สสส. เปิดผลโพลเว็บพนันพุ่งช่วงโควิด-19 งัดสารพัดกลยุทธ์ดึงดูดให้หลงเชื่อ ผลชี้กว่าร้อยละ 80 เสียมากกว่าได้

วันที่ 9 ก.ค. 63 ที่โรงแรมแมนดาริน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงจัดแถลงผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนกับการใช้สื่อออนไลน์ในช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และการเฝ้าระวังเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดและการโฆษณาของธุรกิจพนันออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 63 จำนวน 1,089 คน จากทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ผ่านเครือข่ายเยาวชนหลัก 6 เครือข่าย ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ, สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ, เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และสถาบันการศึกษาต่างๆ

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ธุรกิจพนันออนไลน์ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทองในช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องหยุดทำงานที่บ้าน หลอกล่อให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเล่นพนันออนไลน์ ในขณะที่หลายคนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาด้วยการรีวิวให้เว็บพนัน เช่น คำพูดสวยหรูชวนเชื่อว่าเล่นแล้วมีเงินใช้ในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ลำบาก ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในช่วงใกล้เปิดเทอม หรือทำให้ภาคภูมิใจว่าสามารถหาเงินได้เองอย่างง่ายดาย เป็นต้น เครือข่ายเยาวชนจึงร่วมกันจัดทำการสำรวจในครั้งนี้ โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ช่วยวิเคราะห์ผล ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลอย่างน้อยที่สุดที่มีเด็กและเยาวชนกล้าเปิดเผย เพราะยังมีอีกจำนวนมากสะท้อนผ่านเครือข่ายว่าไม่กล้าส่งแบบสำรวจกลับมา เนื่องจากกลัวว่าจะถูกแฮกข้อมูลหรือกลัวถูกตรวจสอบได้ว่าทำผิดกฎหมาย โดยผู้ที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 70.6

นางสาวเมธาวี เมฆอ่ำ กรรมการฝ่ายบริหาร สมาคมไอเซคผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนช่วงระบาดโควิด-19 เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้เวลาในแต่ละวันกับการออนไลน์เฉลี่ย 6 ชั่วโมงขึ้นไป ร้อยละ 32.13 แต่ในช่วงอยู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.20 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ และในระหว่างการออนไลน์ได้พบเห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันหรือเสี่ยงโชค เช่น ‘เล่นเกมได้เงิน’ ‘ลงทุนง่าย ได้เงินไว’ หรือ ‘กักตัวไม่กลัวจน’ มากถึงร้อยละ 70.06 โดยช่วงอายุที่พบเห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันหรือเกมพนันมากที่สุด คือ 15 -19 ปี ร้อยละ 47.4 ส่วนช่องทางที่พบเห็นเป็นเฟซบุ๊กมากที่สุด ร้อยละ 76.53 รองลงมาคือเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ร้อยละ 70.64 และไลน์ ร้อยละ 32.50

“เมื่อเห็นโฆษณาการพนันออนไลน์แล้ว มีเด็กและเยาวชนตามเข้าไปเล่นพนันร้อยละ 13.24 โดยการพนัน 5 ประเภทที่เล่นมากที่สุด ได้แก่ ยิงปลา ร้อยละ 31.68 เพราะมีลักษณะไม่เหมือนการพนัน แต่เป็นการเล่นเกมที่มีโอกาสได้เงิน รองลงมาคือแทงหวย ร้อยละ 19.80, เกมสล็อต ร้อยละ 17.82, บาคาร่า ร้อยละ 15.84 และทายผลกีฬา ร้อยละ 14.85 ตามลำดับ ผลการเล่นพนันส่วนใหญ่คือร้อยละ 82.18 เสียมากกว่าได้ และน่าตกใจว่าจำนวนเงินที่เสียสูงสุดมากถึง 100,000 บาท น้อยที่สุดอยู่ที่ 7,000 บาท” นางสาวเมธาวีกล่าว

ด้าน นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่า โดยตั้งแต่ 1 ม.ค. – 15 มี.ค. 63 มีเว็บพนันจำนวน 240 เว็บไซต์ แต่ในช่วงระหว่าง 16 มี.ค. – 31 พ.ค. พบว่ามีเว็บพนันออนไลน์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากถึง 200 เว็บไซต์ รวมเป็น 440 เว็บไซต์ ทั้งยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 167 ยูสเซอร์ ที่รับโปรโมตเว็บพนันออนไลน์ ประกอบด้วย บุคคลทั่วไปที่มีหลากหลายอาชีพบนโลกออนไลน์ อินฟลูเอ็นเซอร์ และเน็ตไอดอล ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 200 คน ไปจนถึง 1.8 ล้านคน นอกจากนี้ยังมี 109 แฟนเพจที่โปรโมตเว็บพนันออนไลน์ โดยแต่ละเพจมีผู้ติดตามตั้งแต่ 20 คน ไปจนถึง 2.1 ล้านคน เพจยอดนิยม ได้แก่ เพจคำคมหรือประโยคโดนใจวัยรุ่น เพจรถแต่ง-รถซิ่ง เพจโพสต์รูปสาวสวย หนุ่มหล่อ และเพจพนันออนไลน์โดยตรง โดยในฐานะตัวแทนเยาวชนขอขอบคุณไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ที่ได้สนับสนุนการจัดทำผลการสำรวจดังกล่าว ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สำหรับผลครั้งนี้จะถูกนำไปประกอบการผลักดันนโยบายกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาเจ้าภาพดำเนินการต่อไป