องค์การเภสัชกรรม (อภ.) คว้ารางวัล “Best Bioprocessing Excellence in South East Asia” ครั้งที่ 2 หน่วยงานอุตสาหกรรมผลงานยอดเยี่ยมการผลิตชีววัตถุแถบเอเชียแปซิฟิก ชูผลงานพัฒนาผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
7 ก.ค. นายกิตติศักดิ์ ภูพิพัฒน์ผล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า วันนี้( 7 ก.ค.) องค์การฯ ได้รับรางวัล “Best Bioprocessing Excellence in South East Asia” จากงานสัมมนาด้านชีววัตถุ เรื่อง Biologics Manufacturing Asia and Biologistics World Asia 2020 ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดโดย IMAPAC ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในปีนี้เป็นการมอบรางวัลผ่านระบบออนไลน์ การรับรางวัลครั้งนี้นับเป็นการรับรางวัลครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกรับรางวัลเมื่อปี พ.ศ.2560 ซึ่งการพิจารณารางวัลนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งพิจารณาจากการที่องค์กรที่มีการดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตชีววัตถุ/วัคซีน อย่างต่อเนื่องจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
“และอีกส่วนหนึ่งจากการโหวต จากผู้เข้าร่วมสัมมนา และผู้ที่เคยเข้าร่วมสัมมนา โดยมีหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็น Final lists ในหมวด “Best Bioprocessing Excellence in South East Asia” นี้รวม 6 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้ผลิตจากประเทศอินโดนีเซีย 2 หน่วยงาน ผู้ผลิตจากประเทศมาเลเซีย 2 หน่วยงาน ผู้ผลิตจากประเทศเวียดนาม 1 หน่วยงาน และองค์การเภสัชกรรม จากประเทศไทย สำหรับรางวัลนี้ ปกติในทุก ๆปี จะต้องเข้ารับที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับการสัมมนาเพื่อเสนอข้อมูลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุในกลุ่มวัคซีน ชีววัตถุของประเทศต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยในปีนี้มีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น ทางคณะผู้จัดงานจึงให้ผู้ที่ได้รับรางวัลในแต่ละประเทศ ให้รับรางวัลผ่านระบบออนไลน์จากประเทศนั้น ๆ เพื่อเป็นลดความเสี่ยงการติดโรคโควิด-19” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวต่อว่า รางวัลนี้มอบให้เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานอุตสาหกรรมที่มีผลงานยอดเยี่ยม มีงานนวัตกรรมในด้านกระบวนการผลิตชีววัตถุในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งองค์การเภสัชกรรม มีผลงานที่โดดเด่น ด้านนวัตกรรม การพัฒนา และผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จนปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 4,284 ราย อายุระหว่าง 18-64 ปี ซึ่งพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยจะติดตามความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนในอาสาสมัครต่อไป ตามที่กำหนดในโครงร่างการวิจัยในเดือนสิงหาคมนี้
“ ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นที่พอใจ จะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับใช้ในกลุ่มอายุ 18-64 ปีได้ ในช่วงปลายปี 2563 และหลังจากนั้นองค์การฯจะทำการผลิตวัคซีนภายหลังที่องค์การอนามัยโลกประกาศสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในฤดูหน้า และจะใช้วัคซีนที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งนำไปทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในกลุ่มอายุอื่น เพื่อขยายกลุ่มอายุผู้ใช้วัคซีนต่อไป” นายกิตติศักดิ์ กล่าวและว่า รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจสำคัญของทีมงานองค์การเภสัชกรรม ในการขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนาและ ผลิตชีววัตถุ/วัคซีน เพื่อความมั่นคง การพึ่งพาตนเอง ของประเทศไทย
- 18 views