โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดห้องผ่าตัดอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพที่แรกในอาเซียน รักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนและขอเคี้ยว
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผศ.นพ.ดิลก ตันทองทิพย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid Operation Room ชนิด Biplane ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นที่แรกในอาเซียนที่มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดคุณภาพสูง แบบ 2 ระนาบในห้องผ่าตัด ทำให้สามารถรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนและขดเคี้ยวได้ โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนทางกายวิภาค อีกทั้ง ยังมีการติดตั้งเตียงผ่าตัด อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสามารถรองรับการรักษาทั้งการผ่าตัดและการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดไขสันหลัง หลอดเลือดช่องท้องและหัวใจ เป็นต้น
ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (TU Hybrid Operating Room) ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับให้สามารถทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดได้ทุกประเภท โดยมีการออกแบบให้ห้องมีขนาดใหญ่มีที่ว่างสำหรับอุปกรณ์ผ่าตัดหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง และการผ่าตัดหัวใจ อาทิเช่น กล้อง ผ่าตัดจุลทรรศน์ เครื่องผ่าตัดนำวิถี เครื่องปอดและหัวใจเทียม เป็นต้น อีกทั้งอุปกรณ์เครื่องเอกซเรย์หลอด เลือดคุณภาพสูง แบบ 2 ระนาบช่วยให้เห็นภาพเอกซเรย์ที่มีความคมชัดสูงถึง 16 บิท (มีรายละเอียดความแตก ต่างของสีเทาถึง 65,000 ระดับ) ในปริมาณรังสีที่ต่ำที่สุด และเห็นภาพ 2 ระนาบในครั้งเดียว หรือแม้แต่เป็น ภาพ 4 มิติ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารทึบรังสีที่น้อยที่สุด เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่ติดตั้งในห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้นยังได้มีเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ระบบติจิตอล เพื่อช่วยในการ วิเคราะห์โรคหลอดเลือดต่างๆ อาทิเช่น ระบบวิเคราะห์หลอดเลือดสมองโป่งพอง(Cerebral aneurysm analysis) ระบบการวัดปริมาณเลือดในเนื้อสมอง (Neuro parenchymal blood volume) การจำลองการใส่ขด ลวดค้ำยันในหลอดเลือด (Stent implantation) ระบบนำวิถีในการรักษาหลอดเลือดโป่งพองในช่อง ท้อง (EVAR guidance) และระบบนำวิถีในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนหลอดเลือด(TAVI guidance) เป็นต้น
ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทุกส่วนของร่ายกาย ซึ่งสามารถรักษาได้ทั้งสามแบบดังนี้ คือ
1.การผ่าตัดโดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์หลอดเลือดในการประเมินหลังการผ่าตัด
2.การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดใหญ่ และสามารถแก้ไข ภาวะแทรกซ้อนได้ทันทีในกรณีผู้ป่วยต้องการแก้ไขโดยการผ่าตัด
3.การรักษาแบบผสมผสาน (combine treatment)
ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาโดยใช้ห้องผ่าตัดไฮบริดที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถทำการประเมินการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือด และแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด ทำให้ระยะเวลาการผ่าตัดลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลสั้นลง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจในการพัฒนาการดูแลรักษาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- 819 views