สสส. จับมือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม สร้างความเข้าใจกฎหมายป่าชุมชน หวังลดเผาป่า ต้นเหตุวิกฤตปัญหาฝุ่นควัน ชวนชาวบ้าน 9 จว. ภาคเหนือเป็นเจ้าของป่าร่วมกับภาครัฐ
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า แม้ขณะนี้ภาคเหนือของไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ปัญหาฝุ่นควันจึงคลี่คลายขึ้น แต่ลักษณะเช่นนี้จะอยู่แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อย่างเข้าฤดูร้อน ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป ปัญหาฝุ่นควันจะกลับมาสร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับประชาชนอีกครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีมานานหลายทศวรรษ ส่วนสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของการเกิดฝุ่นควันมาจากการเผาป่า และเกือบจะทั้งหมดพบว่าเป็นฝีมือของคน ทั้งการเผาเพื่อทำการเกษตร และปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่ สสส. จึงจับมือกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเสริมศักยภาพชุมชน และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า บนพื้นที่ทำงานต้นแบบ 20 ตำบล ครอบคลุมภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์
“โครงการฯ ดังกล่าวสนับสนุนเจตนารมณ์ของกฎหมายใหม่หลายฉบับ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ให้สิทธิตามกฎหมายกับชุมชนและเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกับรัฐบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน ซึ่งเราจะเร่งให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน อันนำไปสู่การลดปัญหารุกพื้นที่ป่า และลดการเผาป่าที่เป็นตัวการทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือไม่ประสบความสำเร็จในอดีต มาจากการขาดทรัพยากรด้านต่างๆ รวมทั้งขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและตัวชุมชนเอง ซึ่งหลักการจัดการไฟป่าที่ดีนั้น ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม โครงการดังกล่าวฯ จึงก่อตั้งขึ้นด้วยหัวใจของการดึงทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยได้องค์ความรู้มาจากประสบการณ์ชุมชน ต้นทุนทางสังคมของ สสส. และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ โดยเราจะฝึกฝนองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิฮักเมืองน่าน สมาคมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.ลำพูน สมาคมป่าชุมชน จ.ลำปาง สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน และเครือข่ายต่างๆ ให้มีความรู้และเทคนิคสื่อสารเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งล่าสุดทางมูลนิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ได้พัฒนาเนื้อหาในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “forestbook” ให้มีความน่าสนใจ เช่น การทำคลิปทำไมต้องเผาป่า? มีวิธีอื่นอีกไหม? ตลอดจนจัดเสวนาออนไลน์สร้างความตื่นตัวต่อปัญหาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน
“การทำงานเรื่องนี้ต้องยอมรับก่อนว่า เราไม่อาจควบคุมการเผาป่าให้เหลือเป็นศูนย์ได้ เพราะนั่นอาจกระทบต่อปัญหาปากท้องและรายได้ของชาวบ้านโดยตรง ซึ่งแนวคิดนี้พิสูจน์แล้วว่ายิ่งทำให้ไฟป่าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้การเผาป่าเหลือน้อยที่สุด จำกัดวงแคบให้ได้มากที่สุด หรือในบริเวณใดบ้างที่ห้ามใช้ไฟโดยเด็ดขาด ซึ่งการสื่อสารในเรื่องนี้ต้องทำอย่างยืดหยุ่น พอดี และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยในเดือนสิงหาคมนี้ เราเตรียมจะเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการและสื่อมวลชน ได้ลงไปเรียนรู้วิธีการทำงานรูปแบบใหม่บนพื้นที่การทำงานจริง” นายเดโช กล่าว
- 27 views