เปิดใจ “หมอชาญชัย” กรณีระเบียบรับเงินบริจาค ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่พ.ย. 61 เข้าเงินบำรุงทั้งหมด ไม่เคยเรียกรับเงินบริจาค ขณะที่รพ.ขอนแก่นซื้อยาถูกที่สุดในประเทศถึง 30%

หลังจากนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีคำสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น และตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี มารักษาการ จากกรณี นพ.ชาญชัย ถูกตั้งกรรมการทั้งสืบข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง หลังมีบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องรับเงินบริจาคบริษัทยา โดยนพ.ชาญชัย ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่ามีหลักฐานและพร้อมฟ้องกลับผู้กล่าวหาตนนั้น

เมื่อเวลา 14.00  น. วันที่ 5 มิ.ย. นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น ซึ่งถูกย้ายมาที่กองบริหารการสาธารณสุข ได้เดินทางมารายงานตัวที่กองบริหารการสาธารณสุข โดยมีผู้สื่อข่าวจากหลากหลายสำนักมารอทำข่าวจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนพ.ชาญชัย ถึงกรณีทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า จะเข้าพบนายอนุทินด้วยหรือไม่ เนื่องจากท่านรับทราบแล้ว นพ.ชาญชัย กล่าวว่า หากท่านอนุทิน ให้โอกาส ก็จะนำหลักฐานทั้งระบบการเงินการบัญชี ข้อมูลทั้งหมดเพื่อเข้าหารือกับท่าน และเตรียมเดินทางเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เพื่อขอความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่าเป็นหลักฐานอะไร

นพ.ชาญชัย กล่าวว่า เป็นหลักฐานทางการเงิน และรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งเป็นหลักฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้ไปไม่ครบ

เมื่อถามว่าทางคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ รวมถึงผู้บริหารสธ. รวมทั้งท่านปลัด สธ.ได้ออกแถลงข่าวว่า การบริจาคดังกล่าวผิดระเบียบเนื่องจากเป็นเงินกองทุน

- นพ.ชาญชัย กล่าวว่า กองทุนที่รพ.ขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการบริการผู้ป่วย 2. เพื่อครุภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และ3.พัฒนาบุคลากร โดยรพ.ขอนแก่น จะมีนักเรียนแพทย์ และมีผู้เชี่ยวชาญมาฝึกเป็นหมอเฉพาะทางระดับสาขา ไม่ว่าจะเป็นอายุรกรรม สูติกรรม ศัลยกรรมฯ มี 9 สาขา และได้ลงนามกับทางญี่ปุ่นนการถ่ายทอดวิชาการซึ่งกันและกัน

“กรณีที่บอกว่ามีการเดินทางไปต่างประเทศนั้น สืบเนื่องจากการพัฒนาบุคลากรที่เป็นความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งปีแรกได้จัดประชุมวิชาการที่รพ.ขอนแก่น และปีที่ 2 ได้เชิญไปญี่ปุ่น โดยมีทีมวิชาการไปนำเสนอ แต่ตนไม่ได้ไปด้วย มีนักวิชาการไปนำเสนอ ส่วนอีกอันไปที่ไต้หวัน โดยไปรับรางวัล ซึ่งรพ.ขอนแก่นได้รับรางวัลระดับโลกเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งเดียวที่ได้รับการรับรองระดับเอเชียแปซิฟิก คือ จะวิจัยในมนุษย์ต้องผ่านจริยธรรมในมนุษย์ก่อน โดยจะมีต่างชาติมาร่วมพิจารณาด้วย คล้ายการรับรองของสถาบันรับรองสถานพยาบาล หรือ HA โดยไปไต้หวันก็ไปประมาณ 6-7 คน ซึ่งกรณีนี้ตนไปด้วย ไม่ได้ไปเที่ยว ซึ่งเงินเดินทางไปต่างประเทศ เดิมอยู่ในเงินสวัสดิการซึ่งนำไปใช้ในภารกิจนี้ได้ แต่เมื่อมีการโอนงบทุกอย่างเข้าเงินรพ.ขอนแก่นก็กลายเป็นเงินบำรุง ซึ่งตั้งแต่มีระเบียบก็ไม่ได้ใช้ในภารกิจนี้ ” นพ.ชาญชัย กล่าว และว่า ระบบบัญชีทั้งหมดตรวจสอบได้ ไม่มีอะไรหมกเม็ด ผมโปร่งใส ตรวจสอบได้

เมื่อถามว่าเงินบริจาคไม่สามารถรับเข้ากองทุนพัฒนารพ.ขอนแก่น

- นพ.ชาญชัย กล่าวว่า เงินบริจาคนั้นแล้วแต่ผู้บริจาคว่าจะเข้ากองทุนไหน โดยระเบียบระบุว่าใครบริจาคก็เข้ากองทุนบริจาคของโรงพยาบาล ตั้งระเบียบประมาณเดือน มิ.ย.2561 แต่กองทุนพัฒนารพ. เปิดมาตั้งแต่ปี 2560 และมติ ครม. ซึ่งเสนอโดยป.ป.ช. ออกมาเดือนมี.ค.2561 แต่ระเบียบเงินบริจาคออกช่วงเดือน มิ.ย.2561 สืบเนื่องจากเงินกิจกรรมก้าวคนละก้าว ของคุณตูน บอดี้สแลม ตอนนั้นนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนั้น ได้หารือกรมบัญชีกลาง และ ปลดล็อกระเบียบเงินบริจาคให้สามารถบริจาคได้ โดยตั้งขึ้นมา มีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างชัดเจน

“ ช่วงเงินจากกิจกรรมก้าวคนละก้าว เดิมเราเปิดบัญชีผิด ใช้ชื่อว่า ก้าวคนละก้าว เราต้องเปลี่ยน เป็นเงินบริจาคของโรงพยาบาลขอนแก่น และเมื่อเดือน พ.ย. 2561 เราปิดกองทุนทุกกองทุนให้ไปอยู่ในร่มของกองทุนบริจาคโรงพยาบาลขอนแก่นทั้งหมด ผมมีเจตนาทำตามระเบียบโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้น อย่าได้คลางแคลงใจ จะเห็นได้ว่าระเบียบเหลื่อมกัน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยการบริจาคจะมี 3 อย่างเท่านั้น คือ 1.เงินสวัสดิการตามระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรี สามารถบริจาคเข้าได้ 2. เงินบริจาคของรพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเงินบำรุง ลดหย่อนได้ 2 เท่า และ 3.เงินมูลนิธิรพ.ขอนแก่น ลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ” นพ.ชาญชัย กล่าว

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล

เมื่อถามว่าคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ รวมไปถึงการแถลงข่าวของปลัด สธ.ระบุว่า มีการเชื่อมโยงการบริจาคเงินของบริษัทกับการซื้อยา

- นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ไม่เคยเรียกรับผลประโยชน์ การเรียกรับต้องมีเงื่อนไข เช่น เราไม่ซื้อยาเขา ถ้าเขาไม่จ่าย แบบนี้ถึงตั้งเงื่อนไข ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้าง กับการบริจาคไม่ได้เชื่อมโยงกัน ส่วนที่บอกว่าเชื่อมโยงกันตนไม่ทราบว่า เชื่อมโยงอย่างไร แต่ยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน เราไม่มี เราจะซื้อยาหรือไม่ซื้อ ขึ้นอยู่กับการประมูล เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ เป็นไปตามระเบียบการเงินการคลังทุกอย่าง

“ตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 ผมทำตามระเบียบทุกอย่าง เงินกองทุนต่างๆก็รวมอยู่ในเงินรพ.ขอนแก่น ซึ่งเข้าเงินบำรุง ผมกล้าท้าเลยว่า รพ.ขอนแก่นอยู่ในระบบดีที่สุดในประเทศไทยกรณีเงินบริจาค ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ การบอกว่าผลประโยชน์ตอบแทนนั้น อยากบอกว่า รพ.ขอนแก่นเราซื้อยาถูกที่สุดในประเทศถึง 30% เช่น ซื้อยา 100 ตัว เราซื้อถูก 30 ตัว ซึ่งเรามีราคากลาง เรามีข้อมูลหมด เท่าที่ผมปฏิบัติราชการที่นี่ ราคายาถูกลงเรื่อยๆ เพราะเราเปิดโอกาสมีการแข่งขันยาอย่างเป็นธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนจะไม่มี ก็มี เพียงแต่เดิมแพทย์อยากซื้อยาต้นแบบ แต่ก็ต้องมีการสื่อสารว่า มียาตัวอื่นที่คุณสมบัติใกล้เคียง แต่ราคาถูก ซึ่งเป็นยาสามัญโดยคนไทยผลิต” นพ.ชาญชัย กล่าว และว่า ตนไม่เคยเอาเงินเข้าส่วนตัวแม้แต่บาทเดียว ไม่เคยข่มขู่ใคร กองทุนที่มีในรพ.ก็เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ และผู้ที่ตั้งระเบียบก็ไม่ใช่ตน แต่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ล้อตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ระบุว่ามีการซื้อยาถูกที่สุดในประเทศไทยถึง 30 % แสดงว่าไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขหรือสัมพันธ์กับเงินบริจาคใช่หรือไม่

-นพ.ชาญชัย กล่าวว่า เราซื้อถูกที่สุดในประเทศ  ดังนั้น จึงไม่ได้สัมพันธ์กับเงินบริจาค  เพราะเงินบริจาคจะเป็นสิ่งที่เขาบริจาคเอง ทั้งที่การจัดซื้อยาราคาถูกอยู่แล้วไม่เกี่ยวกัน รพ.ไม่ได้เรียกร้องว่าถ้าไม่ให้แล้วไม่ซื้อยา ไม่มีในส่วนนี้ และหลายบริษัทที่ไม่ได้บริจาคแม้แต่บาท  
       

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

“อนุทิน” ไม่เห็นคำสั่งต้อนรับ “หมอเกรียงศักดิ์” รับตำแหน่งรักษาการ ผอ.รพ.ขอนแก่น

ปลัดสธ. ยันสอบสวนวินัยฯ ผอ.รพ.ขอนแก่น ไม่ใช่ที่แรกมีรพ.อื่นอีก อยู่ระหว่างสอบเพิ่ม!!