“นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” ยืนยันสอบวินัยร้ายแรง “หมอชาญชัย” ปมรับเงินบริจาคยาทำตามระเบียบ หากไม่ทำ อาจผิดฐานเว้นปฏิบัติหน้าที่ ม.157 ย้ำกรณีรพ.ขอนแก่นไม่ใช่แห่งแรก มีอีก 12 แห่งเข้าข่ายผิดระเบียบราชการ ฟันไล่ออกผิดจริงแล้ว 6 คน
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่จบภายหลัง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีคำสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น และตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี มารักษาการ จากกรณี นพ.ชาญชัย ถูกตั้งกรรมการทั้งสืบข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง หลังมีบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องรับเงินบริจาคบริษัทยา กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหว SAVEหมอชาญชัย อย่างต่อเนื่อง ทั้งสังคมออนไลน์ และการแสดงพลังถือป้าย จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ว่าเรื่องนี้ต้องไม่ให้เกิดจากความกลั่นแกล้ง ต้องให้เกิดความเป็นธรรมนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. นายสุจินต์ สิริอภัย นิติกรชำนาญการกลุ่มงานเสริมงานวินัยและระบบคุณธรรม ในฐานะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และน.ส.สุชาฎา วรินทร์เวช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ร่วมแถลงข่าวความชัดเจนประเด็นการสอบสวนวินัยร้ายแรง นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น
นพ.สุขุม กล่าวว่า กรณีการสอบสวนวินัยร้ายแรงฯ นั้นยังไม่ได้ระบุว่าผิดวินัยร้ายแรง แต่จากการสืบข้อเท็จจริงคือ มีมูล จึงนำไปสู่การสอบสวนวินัยฯ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรณีโรงพยาบาลขอนแก่น ไม่ใช่ว่าเป็นแห่งแรก เพราะตนในฐานะปลัดสธ. ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องปฏิบัติตามระเบียบในเรื่องการรับเงินบริจาค และเรื่องอื่นๆให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ แต่ที่ผ่านมาตรวจสอบพบว่า มีโรงพยาบาล 12 แห่งปฏิบัติผิดระเบียบราชการ
“ที่ผ่านมาดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบราชการและข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่ามีมูล ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการ หากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้ง ในสมัยที่ผมเป็นปลัดกระทรวงมานั้น ได้มีการตรวจสอบผู้อำนวยการและผู้อำนวยการระดับสูงรวมแล้ว 12 คน โดย 6 คนมีโทษไล่ออกไปแล้ว อีก 6 คนอยู่ระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งกรณีคล้ายกับรพ.ขอนแก่นและอื่นๆ” นพ.สุขุม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการตั้งนพ.เกรียงศักดิ์ เป็นรักษาการผอ.รพ.ขอนแก่นเป็นครั้งที่ 2 นพ.สุขุม กล่าวว่า นพ.เกรียงศักดิ์ พื้นเพเป็นคนจ.ขอนแก่น และเคยเป็นผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่นมาก่อน ที่สำคัญ ไม่สามารถตั้งรองผอ.รพ.ขอนแก่นขึ้นเป็นรักษาการแทนได้ เนื่องจากนพ.ชาญชัยพูดชัดเจนว่ารองผอ.รพ.และคณะกรรมการบริหารรพ.ก็มีส่วนรู้เห็นในการรับเงินบริจาค จึงจำเป็นต้องตั้งคนอื่นรักษาการแทน ส่วนจะมีการพิจารณาตั้งรักษาการผอ.เป็นคนอื่นแทนหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่า เมื่อนพ.เกรียงศักดิ์ไปปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งก่อนก็เห็นว่าได้รับการต้อนรับที่ดี อย่างไรก็ตาม เป็นการตั้งรักษาการเท่านั้น หากมีการสอบสวนแล้วพบว่าผู้ถูกร้องไม่มีความผิดก็ยังตั้งกลับไปเป็นผอ.เดิมได้
ต่อข้อถามว่าการตั้งคณะกรรมการเป็นคนจากกลุ่มก๊วนเดียวกัน เหมาะสมหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่าก็สามารถคัดค้านได้ ซึ่งไม่ใช่ความกลุมก๊วนเดียวกัน มีความไม่ถูกใจก็สามารถร้องเรียนได้ ก็จะพิจารณาให้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการร้องมาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการจุดชนวนความแตกแยกของกลุ่มก๊วนในสธ.ขึ้นมาอีกครั้ง นพ.สุขุม กล่าวว่า ก็ช่วยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำ ตนก็จะผิดมาตรา 157
นพ.ยงยศ กล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการฯ เป็นประธานนั้น นพ.สุเทพ ได้ขอลาออก เนื่องจากมีภารกิจมาก โดยเฉพาะการรับคนไทยเดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งต้องเตรียมเรื่องการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ส่วนประธานคนใหม่ยังไม่มีการแต่งตั้ง อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม
นายสุจินต์ กล่าวว่า ตามกฎหมายชัดเจนว่าการรับเงินจากบริษัทยา หรือบริษัทเอกชนอื่นๆที่เป็นคู่สัญญากับรพ.ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินมาเพื่อประโยชน์ใดก็ตาม ส่วนรวมหรือส่วนตัวก็ผิดทั้งนั้น ซึ่งเมื่อมีการชี้ว่ามีมูลก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าประธานคณะกรรมการฯไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องทุกข์ได้
น.ส.สุชาดา กล่าวว่า ในเรื่องเงินบริจาคนั้นชัดเจนว่า การบริจาคที่เข้าโรงพยาบาล แม้จะเป็นใครบริจาคเท่าไหร่ก็ย่อมได้ แต่หากเป็นบริษัทยา และพบว่ามีการเชื่อมโยงกันกับการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทยานั้นๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องของการบริจาคโดยสมัครใจ ยิ่งการบริจาคไม่ได้เข้าเงินบำรุงของโรงพยาบาล ถือว่าผิดระเบียบ เพราะเงินทุกบาทคือเงินแผ่นดิน ต้องตรวจสอบได้ ดังนั้น ในส่วนรพ.ขอนแก่น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่นจึงไม่สามารถกระทำได้ เพราะเงินบริจาคต้องเข้าเงินบำรุงเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะตรวจสอบไม่ได้
น.ส.สุชาดา กล่าวอีกว่า กรณีเรื่องเงินบริจาคนั้น มีระเบียบชัดเจน เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำชับเรื่องนี้ และเสนอต่อครม. เรื่องเงินบริจาคต้องไม่ใช่การบังคับ หรือการเรียกเก็บ หรือมีการสร้างเงื่อนไขใดๆ ซึ่งครม.ระบุว่าการจัดซื้อยา และเวชภัณฑ์ไว้ว่า ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล โดยครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 และกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 และได้แจ้งหนังสือเวียนไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ถึง 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.2561 จากนั้นก็มีหนังสือไปอีกวันที่ 13 ธ.ค.2561 และวันที่ 3 ก.พ. 2563 แต่ปรากฏว่ากรณีของรพ.ขอนแก่น กลับพบยอดบริจาคมีความสัมพันธ์กับการจัดซื้อจัดจ้างยา จึงถือว่ามีมูลว่าทำผิดระเบียบ และนำมาสู่การตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง กระทั่งมาถึงการสอบวินัยฯ
- 81 views