กรมสุขภาพจิตสำรวจพบความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ชู “โปรแกรมวัคซีนครอบครัว” ช่วยให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการสร้างสุข ลดทุกข์

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) จะดีขึ้นแต่ว่าผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มที่อาจจะคงอยู่สักระยะหนึ่ง ซึ่งผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ทำให้ครอบครัวมีความเครียดจากการกลัวติดโรค เครียดจากความไม่แน่นอน ความรู้เกี่ยวกับโรค และเครียดจากภาวะปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวการหย่าร้าง เป็นต้น

“โดยความรุนแรงมักเกิดขึ้นกับเด็กและคนชรา กรมสุขภาพจิต ต้องการให้ทุกคนผ่านวิกฤตสุขภาพจิตไปได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1. วัคซีนใจระดับบุคคลหรือพลังอึด ฮึด สู้ 2.วัคซีนครอบครัว ความสุขที่เราสร้างได้ และ 3. คือวัคซีนชุมชน คือการทำให้ชุมชนเข้มแข็งจับมือกันก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้” นพ.จุมภฎ กล่าว

นพ.จุมภฏ กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิต เล็งเห็นถึงความสำคัญของความสุขในครอบครัวมาโดยตลอด เพราะครอบครัวนั้นเป็นพลังเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในการทำให้ชุมชนและสังคม อยู่ดี มีสุข ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมสุขภาพจิตจึงได้ทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยผ่านทางออนไลน์ และสำรวจอีกครั้งในกลุ่มเปราะบางทางสังคม จากการลงสำรวจในพื้นที่ระหว่างช่วงเดือน เม.ย. -พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา จากผลสำรวจออนไลน์พบว่า ความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ปานกลาง มีสัดส่วนความเครียดของครอบครัวระดับปานกลางร้อยละ 54.13 และมีความเครียดของครอบครัวระดับสูงถึงสูงมากร้อยละ 17.53

นอกจากนี้ จากการสำรวจความสุขของครอบครัวกลุ่มเปราะบางเมื่อลงพื้นที่สำรวจ พบสัดส่วนครอบครัวที่มีความสุขน้อยหรือน้อยมากร้อยละ 17.2 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ทำการสำรวจออนไลน์ในครั้งแรก จึงเร่งพัฒนา “วัคซีนครอบครัว” ประกอบด้วย พลังบวก ครอบครัวมองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหาแม้ในยามวิกฤต พลังยืดหยุ่น ครอบครัวที่ปรับตัวได้ ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย หรือบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และ พลังร่วมมือ ครอบครัวที่ปรองดอง เป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค “โปรแกรมวัคซีนครอบครัว” เป็นชุดกิจกรรมที่ “สนุก ง่าย ทำได้ทุกคน” ทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการสร้างสุข ลดทุกข์ เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว ช่วยให้สามารถฟื้นตัวกลับมาเผชิญปัญหาต่ออย่างเข้มแข็ง และเป็นรากฐานของชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการทำกิจกรรมบ้านพลังใจ ตอน บ้านเล็กจอมพลัง กับครอบครัวกลุ่มเปราะบาง 30 ครอบครัวจาก 3 ตำบล ในจังหวัดอุบลราชธานี ผลพบว่า สัดส่วนครอบครัวที่มีความเครียดสูงมากมีแนวโน้มลดลง มีความสุขมากขึ้นจากการเสริมสร้างพลังบวกให้กัน สมาชิกในครอบครัวได้ขอบคุณกัน ชื่นชมกัน รู้สึกใกล้ชิดกัน และร่วมมือกันมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวหรือชุมชนอาจพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างพลังบวก พลังยืดหยุ่น และพลังร่วมมือ หรือกิจกรรมจากวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำชุมชน อสม. ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ