สถาบันสุขภาพเด็กฯ เผยข้อมูลการเชื่อมโยงโรคโควิด-19 กับโรคคาวาซากิ และกลุ่มอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ย้ำอย่ากังวลนัก เหตุอัตราการติดเชื้อในเด็กไม่มาก 1-1.5%

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.วารุณี พรรรณพานิช วานเดอพิทพ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงความเชื่อมโยงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับโรคคาวาซากิ และกลุ่มอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory syndrome in children : MIC-C) ว่า เนื่องจากเมื่อต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กโดยเฉพาะเด็กในยุโรป ป่วยด้วยอาการอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย (MIC-C) ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พบว่าบางรายมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บางรายตรวจพบว่ามีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แต่บางรายก็ไม่มีการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องแปลกที่อยู่ๆ ก็พบโรคที่ไม่ค่อยพบมาก่อน

พญ.วารุณี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลตอนนี้ยังมีจำกัด จึงสรุปความเชื่อมโยงได้ไม่ชัดเจนนัก ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาขอให้กุมารแพทย์ทั่วโลกมีการเฝ้าระวัง และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรคเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเกณฑ์การเฝ้าระวังในเด็กอายุ 0-19 ปี ที่มีไข้ 3 วันขึ้นไป โดยมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ คือ มีการอักเสบบริเวณผิวหนังและเยื่อบุ มีภาวะช็อคหรือความดันต่ำ มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางเดินอาหาร ร่วมกับมีระดับของค่าการอักเสบในเลือดที่เพิ่มสูงกว่าปกติ ไม่พบหลักฐานว่าอาการที่เกิดขึ้น อธิบายได้จากสาเหตุอื่น มีหลักฐานของการติดเชื้อ หรือสัมผัสโควิด-19

สำหรับลักษณะอาการที่เด็กป่วยด้วยอาการอักเสบผิดปกติรุนแรงหลายอวัยวะทุกระบบ คือ มีผื่นแดงกินพื้นที่ 60-70% ของร่างกาย มีการอักเสบของผิวหนัง ตาแดง เยื่อบุตาแดง ไม่มีขี้ตา ซึม รู้ตัวน้อยลง บางรายมีภาวะช็อก มีอาการทางเดินอาหาร ตอนแรกสงสัยว่าจะเป็นโรคคาวาซากิ ซึ่งปกติจะเกิดในเด็กประเทศแถบเอเชีย จะมีการอักเสบทั่วร่างกาย เด็กจะมาด้วยอาการไข้สูงอย่างน้อย 5 วัน บริเวณที่เห็นเส้นเลือดชัดก็จะอักเสบชัด ปลายมือปลายเท้าบวม มีการลอกที่ปลายนิ้วเป็นจุดแรก อย่างไรก็ตาม 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน จุดสังเกตคือ ปกติคาวาซากิเจอในเด็กต่ำกว่า 5 ปีแต่ mic-s ในเด็กอายุเฉลี่ 7.5 ปี และมาด้วยอาการของระบบทางเดินอาหาร ส่วนคาวาซากิไม่ค่อยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร แต่มีอาการหลอดเลือดอักเสบแต่ไม่ถึงกับมีภาวะช็อก

เมื่อถามถึงการเปิดเรียนผู้ปกครองจะมีวิธีการสังเกตและเฝ้าระวังอย่างไรหรือไม่ พญ.วารุณี กล่าวว่า ไม่อยากให้กังวลเกินไปนัก ที่ผ่านมาอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กทั่วโลก รวมถึงเด็กไทยต่ำ อยู่ที่ประมาณ 1-1.5% ขณะที่อัตราการแพร่เชื้อจากเด็กก็ไม่ง่าย เด็กไม่ได้เป็นคนแพร่เชื้อ ที่ติดกันส่วนใหญ่ก็ติดจากผู้ปกครอง เช่นข้อมูลที่ฝรั่งเศสพบว่าเด็กติดเชื้อโควิดฯ 1 ราย ไปโรงเรียนเจอนักเรียน 170 คน ก็มีผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน เท่านั้น ส่วนโรค mic-s ในไทย และเอเชียยังไม่พบผู้ป่วยลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์เราไม่ประมาทอยู่แล้ว มีการติดตาม เฝ้าระวังเต็มที่ และอยากเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้หากมีโรคอะไรที่มีวัคซีนป้องกันโรคได้ อยากให้พาลูกหลานไปฉีดให้ครบ เพื่อจะไม่ได้เจ็บป่วยหลายโรค ซึ่งอาจจะทำให้อาการรุนแรงได้