สปสช.เขต 8 อุดรธานี เพิ่มโควต้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 1.4 หมื่นโด๊ส ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เหตุเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ.สูงเป็นอันดับ 2 จากอาการกำเริบ
ในการประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2563 ที่ผ่านมา จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี (สปสช.เขต 8 อุดรธานี) ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ หน่วยบริการ 7 จังหวัด และ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี
นพ.กิตติศักดิ์ ฐานวิเศษ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลนครพนม และ ประธานคณะทำงานโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ระดับเขต กล่าวว่า 1 ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ควรเน้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังทุกคน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดได้มากสุด จากข้อมูลพื้นที่เขต 8 มีผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 14,526 ราย กระจายใน 7 จังหวัด ข้อมูลอุบัติการณ์สาเหตุการป่วย 10 กลุ่มโรคแรกของเขตสุขภาพที่ 8 พบว่ากลุ่มผู้ป่วยหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพองและปอดอุดกั้นเรื้อรัง สูงเป็นลำดับ 3 ดังนั้น การฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น และเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลโรคไข้หวัดใหญ่ โรคแทรกซ้อนและลดอัตราการตายได้
ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า ในการจัดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2563 เพื่อให้บริการกลุ่มคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ โดยปีนี้ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ได้ขอเพิ่มโควตาวัคซีนเพิ่มจำนวน 14,000 โด๊ส เพื่อฉีดให้กับผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังทุกคนในพื้นที่ใน 7 จังหวัด ตามข้อเสนอของคณะทำงานกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต (5x5) ในพื้นที่เขต 8 เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูง และขณะนี้มีการแพร่ระบาด โรคโควิด -19 โดยกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสอาการกำเริบและกลับมารักษาซ้ำสูง การได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะทำให้ลดอาการกำเริบแล้วกลับมารักษาซ้ำ และอัตราการตายลงอีกทั้งยังลดความแออัดในหอผู้ป่วยทุกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกทาง
“เหตุผลที่เสนอเพิ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังทั้งหมด เนื่องจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในจำนวนการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังสูงเป็นอันดับ 2 จากจากอาการกำเริบและภาวะปอดอักเสบ โดยร้อยละ 80 มีสาเหตุจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และมีค่ารักษาที่สูงมาก โดยเฉพาะรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจะมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาทต่อราย ประกอบกับขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นถือเป็นกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงได้ ทั้งยังลดความแออัดในหอผู้ป่วยโรงพยาบาล ตลอดจนลดการแพร่กระเชื้อโควิด-19 ได้อีกทาง” ทพ.กวี กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะทำงาน 5x5 ระดับเขต 8 โดยมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 8 เป็นประธาน และ นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 8 ได้เห็นชอบให้เขตสุขภาพที่ 8 ประสาน สปสช.เขต 8 จัดสรรเพิ่มวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน 14,000 dose กระจายลงพื้นที่ให้หน่วยบริการฉีดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง พร้อมให้กำกับติดตามการรณรง์เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เข้าถึงบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 31 สิงหาคม 2563 นี้ ทั้งนี้ 7 จังหวัดในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี คือ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร
- 76 views