โฆษก ศบค.เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิดอายุ 72 ปี ย่านประชาชื่น หากประชาชนท่านใดอยู่ในข่ายเกี่ยวข้องช่วงเวลาสัมผัสเชื้อผู้ป่วยรายดังกล่าว ขอตรวจเชื้อยืนยันโรคได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 พ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย รวมผู้ป่วยสะสมรวม 3,042 ราย หายป่วยและกลับบ้าน 2,928 ราย กำลังรักษาในรพ. 57 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 57 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องขอย้อนกลับไปกรณีไทม์ไลน์ของผู้ป่วยชายไทยอายุ 72 ปี ที่ทำให้หลายคนกังวลและถามว่าร้านตัดผมแถวประชาชื่น คือร้านอะไร และร้านอาหารที่ไปอยู่แถวนั้น จึงขออธิบายการสอบสวนโรคว่า วันที่ติดเชื้อคือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 พ.ค.2563 รายละเอียด ดังนี้
- 17 พ.ค. เริ่มมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย
-18 พ.ค. แบ่งรายละเอียดเป็น
- ช่วงเช้าตรวจรับยา รพ.เอกชน แห่งที่หนึ่ง
- รับประทานอาหารร้านแห่งหนึ่ง
- ไปร้านตัดผม
- ช่วงบ่ายเข้าตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งที่หนึ่ง เวลา 23.30 น.เริ่มมีอาการไข้ หนาวสั่น ไอ เรียกรถพยาบาล รพ.เอกชนแห่งที่สองรับที่บ้าน
-20 พ.ค. ย้ายไปรักษาที่ศูนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปก่อนเริ่มมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยได้มีการสอบสวนโรคย้อนกลับไปถึงสิ้นเดือน คือ ผู้ป่วยรายนี้ได้ไป รพ.ตั้งแต่สิ้นเดือน รายละเอียด คือ
-30 เม.ย.รับยาเคมีบำบัดที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง
-7 พ.ค. ไปทำ bone scan ที่รพ.รัฐแห่งที่สอง
-8 พ.ค. ไปรับผล bone scan ที่รพ.รัฐแห่งที่สอง นำผลไปให้แพทย์ที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง ใช้เวลา 5 นาที
-12 พ.ค. ไปเจาะเลือดที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง ใช้เวลา 10 นาที
-14 พ.ค. ไปทำ CT ที่รพ.รัฐแห่งหนึ่ง แผนกไอแมค ใช้เวลา 1 ชั่วโมง สวม mask ยกเว้นช่วงดื่ม contrast (เป็นกระบวนการทางการแพทย์สำหรับการเอ็กซเรย์) ประมาณ 5 นาที
-15 พ.ค. ไปตลาดแห่งหนึ่งในจ.นนทบุรี
-16 พ.ค. ไปตรวจ ที่ รพ.เอกชนแห่งที่หนึ่ง ช่วงเช้า ก่อนจะมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลียวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เห็นได้ว่าระยะเวลามีความสำคัญ เพราะจะได้ดูว่าสัมผัสกับผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน แต่พฤติกรรมผู้ป่วยดีมากตรงสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้ามาตลอด การหาต้นทางมีจุดน่าสงสัยทั้งรพ.แห่งที่หนึ่ง และแห่งที่สอง ซึ่งแน่นอนว่า รพ.มีความเสี่ยงอยู่แล้ว หรือแม้แต่ร้านตัดผม ร้านอาหาร ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อสอบสวนเข้าไปที่ร้านตัดผมที่ผู้ป่วยไปตัดผมในวันที่ 18 พ.ค. พบว่า ร้านตัดผมปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด มีการตรวจ และกักกันตัวพนักงานที่เสี่ยงสูงอย่างน้อย 14 วัน โดยร้านเป็นห้องแอร์ มีพนักงานให้บริการวันนั้น จำนวน 8 คน ก่อนเข้ามารับบริการ หน้าร้านจะมีคนคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าร้านโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายและให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล มีการบันทึกชื่อและเบอร์โทรผู้มารับบริการ ภายในร้านมีการตั้งจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ พนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและ Face shield เก้าอี้ตัดผมจัดวางห่างกัน 1.5 เมตร ลูกค้าเข้ารับบริการได้มากสุด 3 คน ไม่มีการให้นั่งรอ
“ส่วนร้านอาหารที่ผู้ป่วยไปรับประทาน เมื่อไปตรวจสอบก็ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด โดยพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงก็กักตัว 14 วันเช่นกัน การนำเคสนี้มาอธิบาย เนื่องจากวันที่ 17 พ.ค. เป็นวันที่เราเพิ่งให้ใช้แพลตฟอร์ม ไทยชนะ และ 2 ร้านก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม คนไปใช้บริการก็ยังไม่ได้เช็กอิน เพราะเพิ่งใช้ระบบ แต่หากมีการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ ก็จะง่ายกว่านี้ในการติดตามสอบสวนโรค ดังนั้น หากท่านสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกรณีไทม์ไลน์ที่อธิบายข้างต้น ขอให้เข้ามารับการตรวจเชื้อได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” โฆษก ศบค. กล่าว
อนึ่ง ในรายละเอียดนั้น หรือสงสัยว่าตนเองเกี่ยวข้องหรือไม่ขอให้โทรสอบถามสายด่วน 1422 กรมควบคุุมโรค
- 33 views