ลอนดอน — มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่าประชากรในสหราชอาณาจักรมากกว่าร้อยละ 25 มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แล้ว
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ โรงพยาบาลซัลฟอร์ด รอยัล (Salford Royal) ในเครือเฟาเดชันทรัสต์ (Foundation Trust) ของระบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) และองค์การวิจัยเรส คอนซอร์เทียม (Res Consortium) ได้ประเมินผลกระทบสะสมของการติดเชื้อนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักร โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้คณะนักวิจัยสามารถคำนวณค่าอาร์ (R-value) หรือจำนวนประชาชนที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 1 ราย ในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าข้อมูลผู้ป่วยที่เผยแพร่โดยหน่วยงานท้องถิ่น 144 แห่ง ซึ่งวิเคราะห์โดยคณะนักวิจัยนั้นมีค่าอาร์ต่ำกว่า 1 ในปัจจุบัน หลังเคยมากกว่า 3 ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดเมื่อกลางเดือนมีนาคม โดยค่าอาร์ที่ลดลงเป็นผลจากการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมกับผลตามธรรมชาติของการติดเชื้อสะสมในชุมชน
การประมาณค่าความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อระหว่างพื้นที่ท้องถิ่นทุกแห่งที่ตรวจพบผู้ป่วยจำนวนมากหรือน้อยตามแต่ละพื้นที่ นับถึงช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน พบว่าประชากรในสหราชอาณาจักรมากกว่าร้อยละ 25 อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว
“โควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก และเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับคนบางกลุ่ม แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่จะแสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย จึงไม่มีรายงานตรวจพบการติดเชื้อของประชาชนกลุ่มนี้” เอเดรียน เฮลด์ (Adrian Heald) หนึ่งในผู้ทำการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าว
“เรากำลังชี้ให้เห็นประสิทธิภาพของการเว้นระยะห่างทางสังคมและการปิดเมือง แม้การแพร่ระบาดจะเป็นโศกนาฏกรรมแล้ว แต่มันอาจเลวร้ายยิ่งขึ้นอีกมากหากไม่มีมาตรการดังกล่าว” เฮลด์กล่าว
ไมก์ สเตดแมน (Mike Stedman) ผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากเรส คอนซอร์เทียม กล่าวว่าตัวเลขดังกล่าว “ยังไม่สมบูรณ์” และการทดสอบแอนติบอดีในวงกว้างเท่านั้นที่จะทำให้เรามองเห็น “ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น”
“แม้ข้อมูลดังกล่าวเพิ่งจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เราเชื่อว่าการสร้างแบบจำลองรูปแบบนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การเปิดเมือง” สเตดแมนกล่าว
คณะผู้ทำการศึกษาให้เหตุผลว่าการยกเลิกข้อจำกัดทางสังคมเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุดมีความสำคัญต่อการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งลดผลกระทบจากการควบคุมทางสังคมที่ยืดเยื้อ แต่ก็ต้องสร้างดุลยภาพระหว่างการควบคุมโรคระบาดใหญ่ในปัจจุบันและการลดคลื่นการติดเชื้อระลอกใหม่ในอนาคตด้วย
- 5 views