รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยอาการข้อแตกต่างไข้เลือดออก กับโควิด ขณะที่หวัดใหญ่แนะกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนฟรี ย้ำไม่ได้ป้องกันโควิด แต่ช่วยระบบบริการสาธารณสุข ไม่สับสนกลุ่มเสี่ยงคล้ายCOVID-19
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขณะนี้เข้าใกล้ฤดูฝน จะมีโรค 2 โรคที่เข้ามา คือ ไข้เลือดออก ก็อาจทำให้สับสนเรื่องไข้ การแยกคือ ไข้เลือดออกจะมีอาการไข้เป็นหลัก และไข้สูง แต่โควิดจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ แต่ที่สำคัญคือ ต้องป้องกันไข้เลือดออก เพราะเวลานี้ไม่ต้องการความสับสนว่า ตกลงคนมีไข้ เป็นเพราะโรคอะไรกันแน่ ดังนั้น สธ.จึงขอให้ช่วยกันป้องกันไข้เลือดออกเต็มที่ ทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันยุงกัดด้วยมาตรการเหมาะสม ปีนี้ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยไข้เลือดออกเมื่อมีอาการ จะมีภาวะช็อกช่วงไข้ลด โดยไข้จะสูงประมาณ 2-7 วัน และเมื่อไข้ลดจะมีภาวะช็อก ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างดีก็จะหายได้และกลับมามีสุขภาพที่ดี
“ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการคล้ายโรคโควิด 19 นั้น เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาสามารถจำแนกได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่เกิดความสับสน ขอเชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และบุคลากรทางการแพทย์ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการให้วัคซีนของสปสช. คือ ใครมาก่อนได้รับวัคซีนก่อน จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงรีบไปรับวัคซีน และอีกกลุ่มที่รับฟรีได้ ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่การป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะทำให้ระบบบริการสาธารณสุขบริการราบรื่น และไม่สับสนกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเสี่ยงรับโควิดอันนี้ไม่จริง ดังนั้น ขอให้กลุ่มเสี่ยงทุกคนเร่งรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกคน
- 58 views