เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 55 องค์กร ขอ “กรมอนามัย” พิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ทัศนัย ขันตยาภรณ์ คณะทำงานยุติการตั้งครรภ์ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว HFocus เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ค. 2563 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม จะเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง พร้อมด้วยรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนในเว็บไซต์ Change.org รวม 519 รายชื่อ ต่อ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอให้พิจารณาออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ที่มีความปลอดภัย เนื่องจากในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สถานบริการสุขภาพจำนวนหนึ่ง จำเป็นต้องหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีภารกิจการค้นหาและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19
ขณะที่การส่งต่อไปรับบริการยังสถานบริการอื่นทำได้ยาก เนื่องจากมาตรการปิดเมือง ทำให้ผู้รับบริการไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรับบริการได้ ที่สำคัญโรงพยาบาลที่ให้บริการมีการปรับลดจำนวนผู้รับบริการ และมีความเข้มงวดในการรับส่งต่อจากพื้นที่เสี่ยง สวนทางกับความต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสังคมและความกังวลผลกระทบภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และจำเป็นบริการหนึ่ง ที่ไม่สามารถจะหยุดดำเนินการ หรือชะลอการดำเนินการได้ โดยสถานบริการสุขภาพ ที่ให้บริการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ในเครือข่ายอาสา RSA ที่มีอยู่ 142 แห่ง ใน 42 จังหวัด เวลานี้ได้ลดลงเหลืออยู่เพียง 71 แห่งใน 39 จังหวัด และในจำนวนนี้มีเพียง 40 แห่งที่รับส่งต่อให้บริการจากจังหวัดอื่น หรือจังหวัดในเขตบริการสุขภาพเดียวกัน และมีหน่วยบริการเพียง 4 แห่งทั่วประเทศไทยที่ให้บริการสำหรับกรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป” เธอกล่าว
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ยังมีแนวโน้มว่ายายุติการตั้งครรภ์ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ อาจเกิดการขาดแคลนได้ เนื่องจากโรงงานที่ผลิตยานี้ในประเทศอินเดียซึ่งประเทศไทยนำเข้า จะหยุดการผลิตในเดือน ก.ค. นี้ โดยไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มผลิตอีกครั้งเมื่อไร ในขณะเดียวกันมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยังมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ขณะที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด หรือใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่จำเป็น โดยเฉพาะเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ในอายุครรภ์ที่มีความปลอดภัย และเพื่อให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการลดความเสี่ยงจากการแพร่และรับโรคโควิด 19 จึงขอเรียกร้องให้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาออกมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ประสานกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเดินทางออกนอกเคหะสถาน และการเดินทางข้ามจังหวัดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้มีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเดินทางของผู้หญิง และอนุญาตให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปรับบริการที่สถานบริการนอกพื้นที่ได้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19
2. ออกมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ด้วยการจัดหาและเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดชั่วคราวอย่างเพียงพอ และมีการกระจายอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งจัดให้มีบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรที่เข้าถึงได้ ตามความพร้อมของสถานบริการโดยเฉพาะหลังยุติการตั้งครรภ์ โดยแสวงหามาตรการในการบริหารจัดการ หรือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ยายุติการตั้งครรภ์เกิดการขาดแคลนในอนาคตอันใกล้
3. พิจารณาออกมาตรการ และดำเนินมาตรการบริการสุขภาพในระบบ Telemedicine ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการดูแลรักษาทางไกลที่ช่วยให้ผู้รับบริการ และบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงต่อการติดต่อโรคติดเชื้อโควิด 19 โดยการปรึกษาออนไลน์ ก่อนและภายหลังการใช้ยาในผู้หญิงที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ที่มีผลตรวจอัลตร้าซาวด์ยืนยัน โดยแจ้งสถานบริการสุขภาพภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกแห่งให้เปิดให้บริการ อัลตร้าซาวด์เพื่อทราบอายุครรภ์ให้ผู้หญิงเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องฝากครรภ์
4. พิจารณาออกประกาศเผยแพร่ข้อมูลนโยบายการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยที่ชัดเจน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ เพื่อดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันในการสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย โดยดำเนินการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาในการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 พร้อมทั้งออกประกาศให้สถานบริการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้หญิงที่มีอาการ แทรกซ้อนจากการทำแท้ง หรือได้รับผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19
5. พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งควรเปิดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ หรืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
“ข้อมูลจากการปรึกษาท้องไม่พร้อม สายด่วน 1663 พบว่าในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แนวโน้มความต้องการในการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้น เนื่องจากการต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกสั่งห้ามดำเนินกิจการ ถูกลดเวลาทำงาน ถูกเลิกจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขาดรายได้ ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สถานบริการยุติการตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งต้องปิดให้บริการ หรือชะลอการให้บริการจากเดิมที่ก็มีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม และต้องการยุติการตั้งครรภ์หันไปใช้ช่องทางอื่นที่ไม่ปลอดภัย เช่น ซื้อยาออนไลน์ หรือทำแท้งในสถานบริการที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน นับเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ในประเทศที่มีบริการสาธารณสุขที่ดี และมีบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย” ทัศนัย กล่าว
- 91 views