สสส. – มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สนับสนุนแรงงานนอกระบบผลิตหน้ากากผ้า 50,000 ชิ้น หวังบรรเทาปัญหาปากท้อง พร้อมแนบคู่มือสู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. เข้าใจในความยากลำบากของแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีบางส่วนถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤตโรคระบาด เราจึงปรับรูปแบบการทำงานในโครงการลดการตีตราและเลือกปฎิบัติในสังคมไทย ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง มาเป็นการสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่งผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 50,000 ชิ้น และส่งมอบให้ประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั่วประเทศ หลังพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ประสบปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบ เพราะเราเชื่อว่าการจะส่งเสริมให้คนหันมาดูแลสุขภาพได้นั้น ประการแรกต้องแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้ได้ก่อน เพราะเมื่อประชาชนมีข้าวปลาอาหารบริโภคเพียงพอแล้ว จึงจะหันมาใส่ใจการมีสุขภาพดี

“นอกจากการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่าง FAR แล้ว สสส. ยังบูรณาการแผนงานในองค์กร ระหว่างแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตและแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ของประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ส่วนในระยะยาว สสส. จะร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สื่อสารประเด็นขจัดการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อาจติดเชื้อ/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่รักษาหายแล้ว เนื่องจากคาดว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน ไทยและทุกประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ และดูแลการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างมีเมตตา” นายชาติวุฒิ กล่าว

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) กล่าวว่า หน้ากากผ้าทั้ง 50,000 ชิ้น ถูกส่งมอบให้กับแกนนำประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั่วประเทศแล้ว ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มแรงงาน โดยถูกแนบส่งไปพร้อมกับ “คู่มือสู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเราพบว่าผู้ที่อาจติดเชื้อ/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่รักษาหายแล้ว ยังถูกคนในชุมชนรังเกียจ กีดกัน และอาจมีผลทำให้ผู้ที่อาจติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเดินเข้าไปรับการตรวจวินิจฉัยโรค ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากขึ้น สำหรับผู้สนใจคู่มือดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทาง http://llln.me/BfzlIaW

“หากคนในชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 รู้ว่าเชื้อแหล่งที่อยู่ของเชื้ออยู่ที่ไหน รู้ว่าติดต่อได้อย่างไร รู้วิธีป้องกัน รู้วิธีรักษา และเข้าใจว่าทุกคนล้วนมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ส่งผ่านเชื้อไปให้คนอื่นเพราะเราอาจติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ไม่มีอาการ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะช่วยลดความกลัว คลายความกังวล และทัศนคติเชิงลบที่มีต่อกันได้” น.ส.สุภัทรา กล่าว