ฮ่องกง 8 พ.ค. (ซินหัว) — วันศุกร์ (8 พ.ค.) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) เปิดเผยการค้นพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 มีความสามารถในการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจและดวงตา เหนือกว่าไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส (SARS)
ไมเคิล เฉิน จื้อ-เวย (Michael Chan Chi-wai) รองศาสตราจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ ทำงานร่วมกับทีมวิจัยโดยเปรียบเทียบการติดเชื้อของไวรัสโรคโควิด-19 ไวรัสโรคซาร์ส และไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่างๆ เช่น เอช5เอ็น1 (H5N1) และเอช1เอ็น1 (H1N1) ด้วยการศึกษาเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและเนื้อเยื่อตาของมนุษย์ในห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 แห่งหนึ่ง
ผลการศึกษาพบว่าไวรัสโรคโควิด-19 มีความสามารถในการติดเชื้อที่เยื่อตาและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าไวรัสโรคซาร์ส และมีระดับการติดเชื้อใกล้เคียงกับที่พบในการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยเชื้อไวรัสเอช1เอ็น1
เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จึงอธิบายได้ถึงความสามารถในการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ที่สูงกว่าโรคซาร์ส “การศึกษาครั้งนี้ยังย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่าดวงตาอาจเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ในมนุษย์” เฉินกล่าว
ทีมวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบในการศึกษาก่อนหน้านี้ว่าโรคโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวที่เรียบ เช่น เหล็กไร้สนิม (stainless) แก้ว และพลาสติก ได้นาน 2-3 วัน และการค้นพบครั้งใหม่ได้ตอกย้ำความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจแพร่กระจายจากพื้นผิวที่ปนเปื้อนผ่านทางมือ หลังคนเอามือไปสัมผัสและขยี้ตา
การศึกษาดังกล่าวเสริมว่าการหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง พร้อมย้ำว่าการหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์คือมาตรการที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่โรคโควิด-19 จากพื้นผิวที่ปนเปื้อนมาสู่จมูกและปากของคน
ทั้งนี้ การศึกษาฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์แลนเซต เรสพิราทอรี เมดิซิน (Lancet Respiratory Medicine)
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในห้องปฏิบัติการทดสอบพีซีอาร์ (PCR) ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอฉางซิง เมืองหูโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2020
- 45 views