สสส. ถอดบทเรียนสภาผู้นำชุมชนบ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ สู้โควิด-19 แก้ปัญหาปากท้องด้วยเกษตรปลอดสารพิษ ชี้เป็นโอกาสสร้างกติกาชุมชน งดจำหน่ายสุรา ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า การพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาชุมชนให้เกิดผลสำเร็จมีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้คือผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง สสส. จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดแนวทางกลไกสภาผู้นำชุมชนในการป้องกันและรับมือกับปัญหาสุขภาพ รวมถึงโรคระบาดในทุกภูมิภาค ซึ่งที่หมู่บ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่การทำงานต้นแบบของแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ สสส. ที่สนับสนุนการดำเนินโครงการชุมชนน่าอยู่มาตั้งแต่ปี 2556 ผู้นำชุมชนสามารถทำงานเชื่อมประสานภายในพื้นที่และหน่วยงานภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านสำโรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นต้นแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพมากมาย ทั้งมาตรการชุมชนลดการใช้สารเคมี งานบุญปลอดเหล้า ครัวเรือนน่าอยู่ ไข้เลือดออกเป็น “ศูนย์” ฯลฯ
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สสส. มีงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เราจึงใช้โอกาสนี้สนับสนุนการทำงานในพื้นที่ โดยถอดบทเรียนพื้นที่ตัวอย่างของบ้านสำโรงเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ อีกทั่วประเทศได้ลองนำไปปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของตนเอง ซึ่งที่นี่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ชุมชนสามารถบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี โดยไม่กระทบกับเศรษฐกิจและการยังชีพ ตรงกันข้ามกลับพบว่าชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการป้อนพืชผักปลอดสารพิษเข้าสู่ตลาด โดยครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 80 มีการปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์เอาไว้บริโภคเอง มีแหล่งอาหารธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านได้ตลอดทั้งปี และยังสนับสนุนให้คนหนุ่มสาววัยทำงานกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิด ที่สำคัญถือเป็นตัวอย่างในการเตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
นายพีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสำโรง กล่าวว่า วิธีการป้องกันโควิด-19 ของชุมชนนั้น เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลการตั้งด่านโควิด-19 สามารถแยกแยะกลุ่มเสี่ยงได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงหลักคือคนที่มาจากนอกหมู่บ้าน 14 คน กลุ่มอาชีพเสี่ยง 42 คน ที่ไปทำงานในตัวเมืองแบบไปเช้าเย็นกลับ กลุ่มภูมิต้านทานต่ำคือผู้สูงอายุ 103 คน และกลุ่มเสี่ยงสัมผัสและแพร่โรคคือร้านค้าในชุมชน 12 ร้าน การจัดการจึงเน้นเฉพาะไปที่ 4 กลุ่มนี้อย่างเข้มข้น คือการกักตัวดูอาการกลุ่มเสี่ยงหลัก การติดตามพฤติกรรมและเตือนกลุ่มอาชีพเสี่ยง การเฝ้าระวังกลุ่มภูมิต้านทานต่ำ และการปูพรมให้ความรู้การดูแลตัวเอง แจกหน้ากากผ้า และจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือทั่วหมู่บ้าน ล่าสุดยังไม่พบผู้ติดเชื้อในชุมชน ซึ่งตนมองว่าวิกฤตนี้คือโอกาสในการยกระดับสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน และสร้างกติกาชุมชนใหม่ๆ เช่นการงดหรือจำกัดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำได้ยากในภาวะปกติ ซึ่งต้องขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ที่สนับสนุนให้เกิดกลไกสภาผู้นำชุมชนและแผนชุมชนพึ่งพาตนเองมาตั้งแต่ต้น ทำให้วันนี้บ้านสำโรงมีภูมิคุ้มกัน สามารถรับมือและปรับตัวกับปัญหาที่เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว
- 56 views