กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มความเชื่อมั่นต่อผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเครือข่าย COVID-19 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตาม ประเมินผล ส่งเสริม และธำรงรักษาคุณภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั่วประเทศ
การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center) ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับผิดชอบห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้จัดทำโครงการ “หนึ่งห้องปฏิบัติการ หนึ่งจังหวัด” เพื่อรองรับการตรวจวินิจฉัย การรักษาและติดตามผู้ป่วย สอบสวนโรค และเฝ้าระวังโรค ให้กับประชาชนทั่วประเทศ มีเป้าหมายพัฒนาให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในทุกจังหวัดของประเทศไทย
โดยการวางระบบการประเมินความสามารถ ความชำนาญของบุคลากร ความพร้อมด้านเครื่องมือ สถานที่ และระบบการจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการก่อนการเปิดให้บริการของห้องปฏิบัติการเครือข่าย COVID-19 ดังกล่าว ซึ่งนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจประเมินที่มีความรู้ ประสบการณ์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ COVID-19 และระบบความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง เพื่อออกตรวจติดตาม ประเมินผล รวมทั้งช่วยส่งเสริมพัฒนาให้ห้องปฏิบัติการเครือข่ายสามารถธำรงรักษาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบของผู้บริหาร นักวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นคณะทำงานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการตรวจติดตามประเมินผลห้องปฏิบัติการเครือข่าย พิจารณารายงานการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองและการต่ออายุการรับรองห้องปฏิบัติการเครือข่ายและจัดทำแผนส่งเสริม พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายให้ธำรงรักษาระบบคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานสากล
นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งผู้ตรวจประเมินออกตรวจติดตามประเมินผลห้องปฏิบัติการเครือข่ายโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จำนวน 34 แห่งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดในรอบที่ 1 พบว่า ห้องปฏิบัติการเครือข่ายดังกล่าวส่วนมาก มีการดำเนินการที่สอดคล้อง ตามเงื่อนไขที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด มีเพียง 2 แห่งที่ต้องปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย ทางชีวภาพอย่างสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ได้ให้ความร่วมมือและปรับปรุงแล้วเสร็จโดยทันที
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มความเชื่อมั่นต่อผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเครือข่าย โดยคณะทำงานได้กำหนดแนวทางการติดตาม ประเมินผลคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายในระยะสั้นด้วยการมอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขตรวจวิเคราะห์ซ้ำในตัวอย่างที่แสดงผลบวกและผลลบ โดยห้องปฏิบัติการเครือข่าย หากผลการตรวจวิเคราะห์ซ้ำนั้นได้ผลไม่ตรงกันตัวอย่างใดตัวอย่างหนึ่ง ทีมผู้ตรวจประเมิน จะลงพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลหาสาเหตุทันที และรายงานต่อคณะทำงาน ซึ่งจะพิจารณารายงานเสนออธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พิจารณายกเลิกการเป็นเครือข่ายต่อไป นอกจากนี้ คณะทำงานยังมีแนวทางการดำเนินการ ในระยะยาวด้วยการส่งตัวอย่างทดสอบความชำนาญและการออกตรวจประเมิน ณ ห้องปฏิบัติการ
- 14 views