ข้อเขียนโดย Robert Reich , Newsweek Columnist and chancellor’s professor of public policy at the University of California, Berkeley
นพ.แอนโทนี ฟาอูซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐซึ่งน่าจะเป็นเพียงคนเดียวในคณะบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เชื่อถือได้เมื่อเป็นเรื่องไวรัสโคโรนาแถลงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในภาวะล้มเหลว
ชาวอเมริกันต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าระบบสุขภาพของสหรัฐกำลังล้มเหลวต่อให้ไม่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน และในอีกไม่ช้าก็จะเป็นที่รู้กันทั่วว่าระบบสาธารณสุขไม่เคยมีอยู่จริงในประเทศนี้
การระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐอเมริกาไม่ผิดแผกกับรูปแบบการแพร่ระบาดในมณฑลอู่ฮั่นของจีนเลย ต่างกันก็แต่จีนทุ่มสรรพกำลังลงไปเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคขณะที่สหรัฐแทบไม่มีศักยภาพรับมือกับไวรัสเลย
สหรัฐไม่มีระบบสุขภาพเพื่อดูแลคนทั้งประเทศ จะมีก็แต่ระบบการรักษาพยาบาลแบบมุ่งเน้นกำไรสำหรับผู้ที่มีกำลังจ่ายและระบบประกันสังคมสำหรับผู้ที่โชคดีมีงานประจำ
ทั้งสองระบบนี้ตอบสนองก็แต่ความต้องการส่วนบุคคลซึ่งไม่ใช่ความต้องการของประชาชนในภาพรวม เพราะในสหรัฐนั้นคำว่า “สาธารณะ” ในกิจการด้านการสุขภาพ การศึกษา หรือสวัสดิการสังคมหมายถึง “การรวมความต้องการส่วนบุคคลไว้ด้วยกัน” ไม่ใช่กิจการเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเงินของสหรัฐเองก็จะยิ่งเห็นความต่าง ธนาคารกลางเป็นกังวลต่อสุขภาพของตลาดเงินในภาพรวม และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งอนุมัติเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์
ลองมาดูเรื่องสุขภาพของชาวอเมริกันบ้าง ไม่มีการทุ่มเงินเพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพ ไม่มีองค์กรในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางเพื่อคอยดูแลและบริหารกิจการสาธารณสุข หรือพอจะสรุปได้ว่ามีการทุ่มเงินก้อนโตเพื่อป้องกันตลาดเงินล่มสลายแต่ไม่มีเงินก้อนใหญ่สำหรับป้องกันความล่มสลายของมนุษย์
แม้ชุดตรวจ COVID-19 มีพร้อมใช้แต่ก็ไม่มีองค์กรใดที่รับผิดขอบการแจกจ่ายชุดตรวจให้ถึงมือชาวอเมริกันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ฟากองค์กรสาธารณสุขทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐเองต่างก็ถังแตกและประสบปัญหาขาดบุคลากรอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2551
การรักษาพยาบาลในสหรัฐให้บริการโดยบรรษัทเอกชนซึ่งมุ่งเน้นกำไรโดยปราศจากข้อบังคับเรื่องทุนสำรอง ด้วยเหตุนี้จำนวนเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอสำหรับรับมือกับจำนวนผู้ป่วยวิกฤติจากไวรัสโคโรนาซึ่งพุ่งขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งจำนวนเตียงห้องฉุกเฉินที่มีอยู่ราว 45,000 เตียงก็ดูจะกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่คาดว่าจะสูงถึง 2.9 ล้านคน
ธนาคารกลางสหรัฐสามารถสั่งปิดธนาคารเพื่อยับยั้งวิกฤติการเงิน ทว่าสหรัฐไม่สามารถสั่งปิดสถานประกอบการเพราะระบบประกันสังคงของสหรัฐต้องอาศัยแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อน
แรงงานอเมริกันราวร้อยละ 30 ไม่สามารถลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง ขณะที่ราวร้อยละ 70 ของผู้มีรายได้น้อยก็มีค่าแรงไม่ถึง 10.49 ดอลลาร์/ชั่วโมง ผู้ประกอบอาชีพอิสระอีกจำนวนมากก็ไม่สามารถลาป่วยได้เช่นกัน ทั้งมาตรการเศรษฐกิจที่เพิ่งออกมาก็ไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่จึงไม่น่าจะส่งผลดีต่อแรงงานเท่าใดนัก
ชาวอเมริกันที่ตกงานส่วนใหญ่มักไม่ได้รับเงินเยียวยาเพราะมีอายุงานไม่ถึงเกณฑ์ นอกจากนี้ชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านก็ไม่มีประกันสุขภาพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการขึ้นทะเบียนสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ยากไร้ ขอรับคูปองอาหาร หรือขอความช่วยเหลืออื่นจากภาครัฐกลายเป็นความจำเป็นของทั้งคนมีงานทำและคนตกงานอย่างเสมอหน้ากัน
อีกด้านหนึ่งการปิดโรงเรียนรัฐยังทำได้ยากเพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายค่าสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กยากไร้จำนวนมากต้องอาศัยอาหารกลางวันของโรงเรียนเป็นอาหารหลัก ที่นครลอสแอนเจลิสนั้นมีเด็กที่เข้าข่ายได้รับอาหารกลางวันฟรีหรือได้ส่วนลดค่าอาหารถึงร้อยละ 80 และมีเด็กที่กลายเป็นคนไร้บ้านในระหว่างปีการศึกษาถึงราว 20,000 คน
สหรัฐไม่เคยมีระบบสาธารณสุข กล่าวอย่างรวบรัดก็คือประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไม่มีศักยภาพปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน มาตรการเยียวยาที่ออกมาถึงจะดีกว่าไม่มีอะไรเลยแต่ก็ยังห่างไกลกับการแก้ปัญหา
- 151 views