รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่นวมินทร์คลินิกเวชกรรม รามอินทรา กม.8 เยี่ยมชมโครงการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ชี้โรคนี้ยังอยู่อีกนาน สังคมต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพในระยะยาว โดย สปสช.มีความจำเป็นที่ต้องดูระบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยที่ไม่ต้องแออัดที่หน่วยบริการ
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่นวมินทร์คลินิกเวชกรรม สาขารามอินทรา กม.8 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดและรักษาระยะห่างทางกายภาพในหน่วยบริการหรือสถานพยาบาล
นางอรุณี การะเกตุ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนวมินทร์
นางอรุณี การะเกตุ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนวมินทร์ กล่าวว่า ในภาพรวมโรงพยาบาลนวมินทร์มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประมาณ 4,000 คน โดยมีคลินิกเครือข่าย 13 แห่ง ซึ่งนวมินทร์คลินิกเวชกรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น เดิมทีโรงพยาบาลร่วมกับคลินิกเครือข่ายวางระบบการเยี่ยมบ้านโดยเน้นการติดตามอาการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและมีบางรายที่นำยาไปให้ที่บ้านด้วย คนไข้โรคเรื้อรังยังให้มาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลตามปกติ เนื่องจากต้องการผู้ป่วยได้พบแพทย์
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น โรงพยาบาลและคลินิกเครือข่ายได้พิจารณาจัดส่งยาให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังในเคสที่อาการคงที่หรือมีการรับยาต่อเนื่องอยู่แล้ว พร้อมปรับรอบการจ่ายยา จากเดิมรอบละ 2-3 เดือน เป็นรอบละ 28 วัน โดยทางโรงพยาบาลเป็นคนจัดยา จากนั้นส่งยามาให้ทีมเยี่ยมบ้านของแต่ละคลินิกเพื่อนำไปจัดส่งแก่ผู้ป่วยต่อไป โดยขณะนี้มีคนไข้ที่อาการคงที่สามารถจัดส่งยาให้ถึงบ้านประมาณ 20% ของจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหมด
"คลินิกจะออกเยี่ยมบ้านวันละ 1 ทีม เยี่ยมได้วันละ 15-20 เคส โดยเราจะดูว่าคนไข้รายใดที่ยาใกล้หมดแล้ว ก่อนจะจัดส่งยา 10 วันก็จะโทรไปคอนเฟิร์มอาการว่ายังปกติหรือไม่ ถ้าอาการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็จะส่งยารอบที่ 2 ต่อไป และถ้าตามลงเยี่ยมบ้านแล้วพบปัญหาก็จะวิดีโอคอลคุยกับแพทย์ ถ้าแพทย์เห็นว่าต้องตรวจอย่างละเอียด เราก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปที่หน่วยบริการ แต่ถ้าไม่มีปัญหา เราก็จะจัดส่งยาให้ต่อเนื่อง" นางอรุณี กล่าว
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวว่า ระบบบริการสาธารณสุขในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. มีความแตกต่างจากต่างจังหวัด ในต่างจังหวัดมีระบบชัดเจน มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยดูแลในพื้นที่ แต่ในเขต กทม. ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง โดยมีเอกชนมาร่วมจัดบริการบ้าง มีคลินิกชุมชนอบอุ่น และมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.
อย่างไรก็ตาม ด้วยแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมองอนาคตที่สถานการณ์เปลี่ยนไป คงให้คนไข้มาแออัดที่โรงพยาบาลไปตลอดไม่ได้เพราะการรักษาระยะห่างคงเป็นเรื่องที่ต้องทำระยะยาว
"โควิด-19 ทำให้เกิดการ disrupt ในระยะยาวระบบบริการต้องปรับตัว อาจต้องเปลี่ยนเป็นเชิงรุกมากขึ้นเพื่อทำให้คนไข้ไม่ต้องมาแออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรงพยาบาลอาจต้องไป Home visit มากขึ้น ขณะที่ สปสช.ก็มีความจำเป็นที่ต้องดูระบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยที่ไม่ต้องแออัดที่หน่วยบริการ เรากำลังมองเรื่อง telehealth รวมทั้งของเดิมที่มีอยู่แล้วคือการส่งยาทางไปรษณีย์ ระบบร้านยาคุณภาพใกล้บ้านใกล้ใจ ส่วนในพื้นที่ที่ประชากรเบาบาง เช่น เขตหนองจอก มีนบุรี อาจยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง เรากำลังหาทางแก้ปัญหาในจุดนี้อยู่ เบื้องต้นเราให้ทางคลินิกชุมชนอบอุ่นเข้ามาเยี่ยมบ้านหรือที่เรียกว่า Home Healthcare โดย สปสช.พยายามสนับสนุนให้มีการจัดบริการลักษณะนี้ทั่วทุกพื้นที่ของ กทม." นพ.การุณย์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.การุณย์ ยังได้ลงเยี่ยมบ้านนางลิ้ม ภุมรินทร์ อายุ 79 ปี หนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการจัดส่งยาและเยี่ยมบ้านโดยทีมของนวมินทร์คลินิกเวชกรรม โดยนางลิ้มเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขาอ่อนแรง ไม่สามารถเดินได้ไกล ที่อยู่ของนางลิ้มอยู่ห่างจากหน่วยบริการถึง 16 กม. นอกจากนี้ที่ตั้งของบ้านยังเป็นที่ตาบอด ต้องอาศัยทางเดินเข้าออกผ่านหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง โดยทางเดินมีความกว้างเพียง 1 เมตรและต้องเดินข้ามคลองอีกด้วย ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางไปพบแพทย์อย่างมาก
นางลิ้ม กล่าวว่า เมื่อก่อนยังพอเดินไหวก็จะนั่งรถเข็นให้ลูกประคองข้ามสะพานข้ามคลอง หรือนั่งเรือไปขึ้นฝั่งที่ท้ายหมู่บ้าน แต่ตอนนี้เดินไม่ไหวแล้ว ทางลูกได้ปรึกษากับแพทย์แล้ว แพทย์ให้ลูกมารับยาแทน และยังมีพยาบาลมาเยี่ยมที่บ้านคอยดูแลสอบถามอาการต่างๆ รวมทั้งเอายามาส่งให้ด้วย ทำให้มีความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องลำบากเดินทางไปที่คลินิกเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
- 303 views