“กองทุนสุขภาพเทศบาลตำบลทุ่งหลวง” กลไกการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อน “ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19” ในพื้นที่” พร้อมจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เผยใช้กลยุทธ์ “60 ขุนศึก” แกนนำท้องถิ่น-ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ระดมความร่วมมือดูแลชาวในพื้นที่
นายเอกศิลา ปานศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งหลวง (รพ.สต.ทุ่งหลวง) อำเภอคีรีมาศ จ.สุโขทัย กล่าวว่า อำเภอคีรีมาศมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาส ที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในส่วนของพื้นที่ โดยนายสมพงค์ ชมชัย นายอำเภอคีรีมาศ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ได้มีการประชุมทีมป้องกันและควบคุมโรค ที่ประกอบไปด้วยแกนนำชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทั้งในส่วนของการจัดทำแผนและงบประมาณเพื่อดำเนินการ โดยงบประมาณที่ใกล้กับระดับตำบลและสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ คือ “งบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือ “งบกองทุนสุขภาพตำบล” เนื่องจากเป็นงบประมาณที่มีประกาศหลักเกณฑ์ให้สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดและภัยพิบัติได้
ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 พื้นที่ ที่อำเภอคีรีมาศได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นตามแผนที่จัดเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ในช่วงที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวนมากและเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ โดยเน้นให้มีการติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่เข้ามาในพื้นที่ทั้งใน 15 ชุมชน พร้อมกับมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมและป้องกัน อาทิ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ หน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรที่ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวัง เป็นต้น ร่วมกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ อาทิ การปูพรมให้ความรู้ความเข้าใจในมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคกับชุมชน เป็นต้น โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีการประชุมหารือของผู้นำท้องถิ่นเพื่อทบทวนแผนและมาตรการต่างๆ เป็นการอุดช่องว่างที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาด ทำให้เราสามารถควบคุมและป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี ใช้งบประมาณ “กองทุนสุขภาพตำบลเทศบาลตำบลทุ่งหลวง” ดำเนินการ ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 19
กิจกรรมที่เราดำเนินการ ได้แก่ จัดระเบียบกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานบวชที่ขอให้งดกิจกรรมแห่นาค แต่ให้ทำพิธีเรียบง่ายโดยจัดงานในวัดที่มีแต่สมาชิกครอบครัว การจัดงานศพ ที่นั่งผู้ร่วมงานต้องเว้นระยะห่าง งดการกินข้าวร่วมกัน แต่ให้จัดเตรียมห่ออาหารกลับบ้านที่เป็นการขอบคุณผู้มาร่วมงานแทน และพิธีฌาปนกิจในการวางดอกไม้จัน ขอให้เว้นระยะห่างในการเดิน เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ขณะที่ในส่วนของการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเปิดให้สามารถนำงบท้องถิ่นมาดำเนินการได้ เราจึงนำมาบูรณาการกับการควบคุมและป้องกันด้วยทำหน้ากากผ้าให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่งบกองทุนสุขภาพตำบลจะเป็นการจัดหาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)
“ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่เป็นผลจากการใช้กลไกแกนนำที่เราเรียกว่า “60 ขุนศึก” ที่ประกอบไปด้วยผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น อาทิ นายกเทศมนตรี นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน แพทย์ สารวัตร และแกนนำ อสม. ในการขับเคลื่อนและทบทวนแผนการต่างๆ และมี 131 อสม ที่ทำหน้าที่เหมือนพลทหารในการทำหน้าที่ดูแลเชิงรุก สอดส่องในพื้นที่ หากมีใครที่เข้ามาในพื้นที่ต้องรู้และรายงานทันที ขณะเดียวกันก็มีกองทุนสุขภาพตำบลเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นในการทำงานและสนับสนุนทรัพยากรในการต่อสู้” ผอ.รพ.สต.ทุ่งหลวง กล่าว
นายเอกศิลา กล่าวว่า นอกจากนี้เรายังมีมติร่วมกันในการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยในช่วงแรกเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 และเพิ่มเติมเป็น 11 ประเทศ และต่อมาขยายเป็นผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง จนถึงมาตรการเข้มข้นคือการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากพื้นที่ใด เนื่องจากการแพร่ระบาดที่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเริ่มตั้งแต่การรับตัวที่สนามบินซึ่งจะมีการแยกที่นั่ง และเมื่อถึงบ้านจะต้องกักตัวที่บ้าน และแยกการใช้ชีวิตจากคนในครอบครัว ทั้งแยกห้องนอน ห้องน้ำ แยกภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการเฝ้าระวังโรค ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี มีเพียง 1 ราย ที่มาจากพื้นที่มีความเสี่ยงสูง และไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ต้องมีการออกคำสั่งการทางปกครองห้ามฝ่าฝืน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ที่หลักหน่วย แต่จากการทบทวนร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะยังคงมาตรการเข้มข้นนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมเพื่อให้มั่นใจมากที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
นายเอกศิลา กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในส่วนของท้องถิ่น กองทุนสุขภาพตำบลเป็นกลไกที่มีบทบาท และเป็นกองทุนที่มีการออกแบบที่ดีเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ ในฐานะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเราเป็นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเท่านั้น การดำเนินกิจกรรมสุขภาพต่างๆ ภายใต้กองทุนสุขภาพตำบลเกิดจากความต้องของชุมชนเอง คนที่ของบประมาณก็คือประธาน อสม.ที่เป็นภาคประชาชนและเล็งเห็นความสำคัญของกองทุน โดยกองทุนสุขภาพตำบลเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความรู้การบริหารจัดการดูแลสุขภาพ และที่สำคัญได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนด้วยกัน
- 109 views