นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า หลังมีการระบาดของโควิด-19 สสส. และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงแนวทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจ โดยใช้ฐานคิดและแนวทางการทำงานที่ประยุกต์มาจากการลดการตีตราจากงานโรคเอดส์/เอชไอวีมาใช้กับโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคและผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงครอบครัว คนใกล้ชิดของกลุ่มคนเหล่านี้ อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม กุญแจแก้ปัญหาเรื่องนี้คือประชาชนควร “รู้วิธีที่จะไม่ติด และจะไม่แพร่” คือ การมีระยะห่างทางสังคม ล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสพื้นผิวใดๆ ใส่หน้ากากผ้าเมื่อออกไปที่ชุมชน ระมัดระวังการใช้ชีวิตกับผู้อื่นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ใช้ความพอดี ระวังคำพูด ท่าที การใช้สายตา ในทางกลับกันทุกคนต้องป้องกันในกรณีที่ตัวเราอาจติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการซึ่งจะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วย
นายชาติวุฒิ วังวล
ต่อมาคือ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เสียชีวิตทุกคน” ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มีเพียง 3.4% ที่เราเห็นว่าผู้ติดเชื้อทุกคนต้องอยู่โรงพยาบาลนั้น เพื่อควบคุมโรคระบาด เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนจากสองประเด็นข้างต้นแล้ว ย่อมนำมาสู่ “การไม่ตีตราเลือกปฏิบัติ” เมื่อแพทย์ระบุว่าตรวจไม่พบเชื้อแล้ว บุคคลนั้นจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ถึงเวลานั้นจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม เพราะพลาสมาสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ และข้อมูลอาการป่วยยังเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในวงการแพทย์
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ร่วมกับ สสส. และเครือข่ายกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ 9 เครือข่ายได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ใช้ยาเสพติด แรงงาน และกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินงานโครงการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย เนื่องจากพบว่าคนเหล่านี้ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันคือมักถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกันโอกาสในการดำเนินชีวิต ปัญหาการเลือกปฏิบัติเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ แต่ในช่วงระบาดโควิด-19
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว
มูลนิธิฯ ได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หลังพบว่ามีกรณีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่รักษาหายแล้ว ไม่สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ ถูกคนในชุมชนกีดกันขับไล่ออกนอกพื้นที่หลายครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้คล้ายกับเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกชุมชนรังเกียจไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกัน ด้วยความกลัว กังวลว่าจะติดเชื้อ และทัศนคติเชิงลบที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยได้จัดทำสื่อรณรงค์และเผยแพร่ ภายใต้แนวคิด “สู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ” โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนตระหนักและมีความเข้าใจว่าทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โควิด-19 ป้องกันได้ รักษาได้ ให้นึกถึงใจเขาใจเรา ต้องป้องกันเข้มข้นกับทุกคน ไม่เฉพาะคนที่รู้ว่าติดเชื้อหรืออาจติดเชื้อ เพราะคนที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการมีมากถึง 80% หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการน่าสงสัยต้องรีบแจ้งและเข้ารับการตรวจรักษาทันที มาร่วมกันเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ
นายทองสุข ทองราช อดีตผู้ป่วยโควิด-19 กล่าวว่า ตนเคยเข้ารับการรักษาโควิด-19 และหายเป็นปกติ แพทย์ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่วันแรกที่กลับมาขับรถแท็กซี่ต้องประสบกับเหตุการณ์ผู้โดยสารขอลงจากรถกะทันหัน เพราะจำหน้าตนในข่าวได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นบั่นทอนกำลังใจอย่างมาก จนเกือบตัดสินใจเลิกขับรถและกลับบ้านเกิด ความกดดันต่างๆ ในห้วงเวลานั้นทำให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่ด้วยภาระหนี้สินรุมเร้า ทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าซ่อมแซมบ้านที่เพิ่งถูกไฟไหม้จากเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ตนต้องสู้ บนพื้นฐานกำลังใจสำคัญจาก “ครอบครัว” และความภาคภูมิใจจากการบริจาคพลาสมาที่สามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีกหลายคน สุดท้าย ในวิกฤตนี้ตนขอให้คนไทยทุกคนรักกัน อย่ารังเกียจผู้ติดเชื้อ การเดินสวนกันไม่ได้ทำให้ติดโรคได้ แค่รู้จักป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด โรคนี้ก็ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว
- 23 views