วันที่ 18 เม.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสมาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายอื่นอย่างไรผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า หลายคนสงสัย ในกระบวนการ ผู้ที่หายแล้วจะมีภูมิต้านทานสูงมาก ประมาณ 4-6 อาทิตย์ หลังจากเริ่มมีอาการ ภูมินั้นก็จะยังคงอยู่สูงในระยะ 2 - 3 เดือนแรก แล้วจะค่อยๆลดลงจนถึง 6 เดือน
ดังนั้น ผู้บริจาคเราจะใช้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ที่มีระดับภูมิต้านทานสูงอยู่ เมื่อผู้บริจาคมาติดต่อ ทางศูนย์บริการโลหิตจะให้ลงทะเบียนออนไลน์ แล้วจะเรียกมาทำการตรวจเลือด ป้ายคอหรือจมูก ว่าไม่มีเชื้อโควิดเหลืออยู่ ตรวจระดับภูมิต้านทาน ตรวจไวรัส อื่นๆ เช่นเดียวกับการบริจาคเลือดทั่วไป
การบริจาคพลาสมา จะทำด้วยเครื่องคัดแยกเอาเฉพาะน้ำพลาสมา หรือน้ำเหลืองออกมา และคืนส่วนที่เป็นเม็ดโลหิตแดง โลหิตขาวและเกล็ดเลือด กลับคืนเข้าร่างกายผู้บริจาค พลาสมาที่แยกออกมา ในการบริจาค แต่ละครั้ง ปริมาณที่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค ในผู้ที่มีร่างกายตัวโต สามารถบริจาคได้ถึง 500 ml และจะถูกแบ่งแยกเป็น 2 ถุง ถุงละประมาณ 250 ml แต่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย ปริมาณที่ได้ก็จะลดน้อยลง
แฟ้มภาพ(ภาพจากสภากาชาดไทย)
ผู้บริจาค สามารถบริจาคได้ทุก 2-4 สัปดาห์ ดังนั้นผู้ที่หายจากโรค สามารถบริจาคได้ ถึง 6 ครั้งถ้า ภูมิต้านทานอยู่ในระดับสูง
ผู้ป่วยที่รับ Plasma รักษา จะต้องมีการเปรียบเทียบกรุ๊ปเลือดกัน ว่าเข้ากันได้หรือไม่ และในการรักษาผู้ป่วย 1 ราย อาจจำเป็นต้องใช้ 1 ครั้ง หรือให้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วย เป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
โดยผู้รับ ผู้ป่วย จะได้รับครั้งหนึ่งประมาณ 5 ml ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่นผู้ป่วยหนัก 50 กิโลกรัมจะได้รับประมาณ 250 ml แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทานในพลาสมาด้วย ถ้ามีภูมิต้านทานยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
ข้อมูลทั้งหมดก็น่าจะเพิ่มความกระจ่างให้กับผู้สงสัยได้บ้าง
- 139 views