องค์การอนามัยโลกแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่า

ในบางประเทศมีรายงานบุคลากรการแพทย์ 1 ใน 10 ติดไวรัสโคโรนา 2019

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นในขณะนี้เพื่อปกป้องคนทำงานด้านสุขภาพ คือ มาตรการต่างๆ รวมถึงการฝึกอบรมและการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องอาจปกป้องบุคลากรสุขภาพและประชาชนจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเผยว่า การระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เจ็บป่วยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในบางประเทศมีรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดไวรัสโคโรนา 2019 สูงถึงร้อยละ 10

การติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ส่งผลโดยตรงต่อกำลังคนในการรับมือกับโรค “เราเห็นสัญญาณอันตราย” ผู้อำนวยการอนามัยโลกกล่าวระหว่างการแถลงข่าวและเผยแพร่คำแนะนำการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

เจ้าหน้าที่อนามัยโลกเผยว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันระหว่างระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล

“น่าเสียใจว่าบุคลากรทางการแพทย์มักมีสถานะไม่ต่างจากออดเตือนภัยเมื่อเกิดการระบาดของโรค โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ขาดแคลนระบบการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ” ไมเคิล เจ ไรอัน (Michael J. Ryan) ผู้อำนวยการบริหารโครงการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพของอนามัยโลกกล่าว

Michael J. Ryan, Executive Director of the WHO Health Emergencies Programme and Director-General of the WHO Tedros Adhanom Ghebreyesus 

หลักฐานจากหลายประเทศอธิบายสาเหตุของการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

1.ขาดความตระหนักถึงอาการของ COVID-19 และขาดประสบการณ์ในการรับมือกับเชื้อก่อโรคทางเดินหายใจ

2.สัมผัสกับผู้ป่วยจำนวนมากเป็นระยะเวลานานและมีช่วงพักน้อยเกินไป

3.ขาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

4.ขาดมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่อนามัยโลกได้แนะนำแนวทางป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

1. ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้ตระหนักถึงโรคทางเดินหายใจ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอนามัยโลกชี้ว่าการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในหอผู้ป่วยซึ่งมักไม่มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยสูงอายุ ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความรู้เรื่องไวรัสโคโรนา 2019 การระบาดของไวรัส และแนวทางป้องกันตนเอง ทั้งนี้ อนามัยโลกได้จัดทำคู่มือออนไลน์เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับไวรัส รวมถึงวิธีใส่และถอดชุด PPE อย่างปลอดภัย

2. เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันรวมถึงชุด PPE ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อนามัยโลกเปิดเผยว่าคณะทำงานของสหประชาชาติจะประสานงาน รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อและการกระจายชุด PPE ในแต่ละเดือนคณะทำงานจะต้องส่งมองหน้ากากอนามัยและถุงมือ รวมถึงอุปกรณ์อื่น (เช่น ท่อช่วยหายใจและเครื่องผลิตออกซิเจน) ราว 500 ล้านชุด

อีกด้านหนึ่งอนามัยโลกยังได้เผยแพร่เครื่องมือสำหรับประเมินอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น

“เราเป็นหนี้บุคลากรหน้างานมากเหลือเกิน” ไรอันกล่าว “พวกเขาไม่ได้ร้องขออะไรเลยนอกจากการฝึกอบรมและอุปกรณ์ป้องกันสำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่”

3.ให้การสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์

เจ้าหน้าที่ชี้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากต้องทำงานระยะยาวโดยไม่หยุดพัก ซึ่งความอ่อนล้าและเครียดนั่นเองที่เป็นสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาพักผ่อนเพียงพอเพื่อลดความเหนื่อยล้า

4.วางระบบคัดกรองโรคที่เข้มแข็งในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลจะต้องมีระบบคัดกรองโรคเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล โดยไรอันยกกรณีการระบาดของไวรัสอีโบลาชี้ว่าราวร้อยละ 70 ของผู้ป่วยได้รับเชื้อจากสถานพยาบาล

“สถานพยาบาลเป็นได้ทั้งสถานเยียวยาผู้ป่วยและแหล่งเพาะเชื้อไวรัส เราจำเป็นต้องปกป้องทั้งผู้ป่วยและบุคลารกรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน”

5.ยอมรับข้อบกพร่องของระบบสาธารณสุข

ไม่มีระบบสาธารณสุขได้ที่เพียบพร้อม การยอมรับในข้อบกพร่องของระบบสาธารณสุขเป็นกุญแจสำคัญที่จะระบุปัญหา รวมถึงปกป้องบุคลากรและประชาชนในวงกว้าง

ผู้อำนวยการใหญ่อนามัยโลกชี้ว่ากระทั่งระบบสุขภาพของหลายประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเข้มแข็งก็ไม่พ้นโดนไวรัสลูบคม

“เราต่างก็เห็นแล้วว่าระบบสุขภาพในภาพรวมยังคงขาดความพร้อม ระบบสุขภาพไม่ว่าของประเทศใดก็ล้วนแต่มีช่องโหว่ เราควรยอมรับความจริงและมองหาแนวทางที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น”

แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช

แหล่งที่มา

What's needed now to protect health workers: WHO COVID-19 briefing (www.weforum.org)