ศบค.แถลงข้อมูลผู้เสียชีวิต 3 ราย พบอายุ 30 ปี และ 46 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 82 ปีมีประวัติโรคประจำตัว ร่วมงานเลี้ยงหัวหิน-ผับแถวสุขุมวิท ส่วนการระบาดเหลือ 11 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยไม่พบผู้ป่วย สรุป 5 เม.ย.พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 102 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,169 ราย หายดีและกลับบ้านแล้ว 674 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิต 23 ราย

วันที่ 5 เมษายน 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้ติดตามเรื่อง 158 คนไทยที่ออกจากสุวรรณภูมิ โดยได้ติดตามตัว ล่าสุดท่านนายกฯ ฝากขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง และ 158 คนไทยที่ร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดที่มารายงานตัวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มาจากต่างจังหวัดจำนวน 65 คน กระจาย 27 จังหวัด โดยกระจาย 3 ส่วน คือ รพ.ใกล้กับภูมิลำเนาแต่ละท่าน โรงแรมที่เข้าร่วม และสถานที่ราชการที่เหมาะสม และกลุ่มที่ 2 รายงานตัวที่สุวรรณภูมิ มี 93 คน ส่งไปที่สถานที่กักตัว โรงแรม 2 แห่ง โดยทั้งหมดไม่ใช่ว่าป่วยทุกคน แต่เราเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่า หากไม่ติดเชื้อก็จะได้ดูแลตัวเอง แต่หากติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาเป็นอย่างดี

“สำหรับสถานการณ์การประกาศเคอร์ฟิว ในการปฏิบัติงานตามมาตรการงดออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 22.00 น. ถึง 04.00 น. โดยได้ตั้งจุดตรวจ 634 จุด ใน 77 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 3-4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรถผ่าน 7997 คัน 11610 คน พบการกระทำผิดล่าสุดข้อมูล 08.00 น. วันนี้(5 เม.ย.) ฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุผลจำนวน 677 คน และยานพาหนะ 522 คัน และพบรวมกลุ่มมั่วสุม เช่น ดื่มสุรา ฯลฯ โดยตักเตือน 375 คน และดำเนินคดี 325 คน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังชื่นชมการวางระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินที่เข้าประเทศไทยซึ่งมาจากมาเลเซีย 51 คน และจากกาตาร์ 47 คน โดยเมื่อมาถึงก็ผ่านขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยดีทุกอย่าง ใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง ส่วนคนไทยที่ยังติดค้างจากต่างประเทศต้องขออภัยขั้นตอน เนื่องจากยังต้องรอคอยที่สนามบินต่างประเทศ โดยกระทรวงต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานทูตต่างๆ ว่า ยังมีคนไทยที่อยู่ลักษณะนี้ เกิดความไม่สะดวก แต่ทางสถานทูตก็เข้าไปดูแลพี่น้องประชาชน โดยอาจต้องยืดเวลาออกไป เพราะต้องเตรียมการขั้นตอน ระบบต่างๆ เพื่อให้การเข้ามาผ่านไปด้วยดี ซึ่งตัวเลขจะมีประมาณ 100-200 คนต่อวัน

สำหรับประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 102 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,169 ราย พบใน 66 จังหวัด โดยหายดีและกลับบ้านแล้ว 674 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิต 23 ราย โดยผู้เสียชีวิต 3 ราย นั้น

รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติกลับมาจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงไทยวันที่ 22 มี.ค. รักษาวันแรกเมื่อวันที่ 25 มี.ค ที่ผ่านมา พบมีไข้ 38.9 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก และเสียชีวิตวันที่ 3 เม.ย

รายที่ 2 เป็นชายอายุ 82 ปี สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ มีประวัติโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง มีประวัติร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านอำเภอหัวหิน และร่วมงานเลี้ยงบาร์แถวสุขุมวิท เมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีไข้ จากนั้นวันที่ 31 มี.ค.เข้ารักษาที่ รพ.เอกชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบมีความดันโลหิตสูง เหนื่อยหอบ ชีพจร 100 ครั้งต่อนาที แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นปอดบวม ส่งต่อรักษารพ.เอกชนที่จ.เพชรบุรี โดยในวันที่ 1 เม.ย.ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

รายที่ 3 ชายไทยอายุ 30 ปี อาชีพก่อสร้าง ดื่มสุราประจำ เดินทางมาจากสุรินทร์ และทำงานก่อสร้างที่อำเภอปราสาท จ.สุรินทร์ เริ่มป่วย ไอ อาเจียนเป็นเลือด เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ไอมากขึ้น หอบ และรักษาตัวที่ รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แรกรับออกซิเจนเลือดต่ำ มีการเอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 102 ราย มี 3 กลุ่ม แบ่งเป็น

กลุ่ม 1 ผู้สัมผัสเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย /สถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้จำนวน 48 ราย

-สถานบันเทิง 2 ราย

-สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่มาจากสนามมวย 44 ราย

-พิธีกรรมทางศาสนา 2 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 42 ราย

-คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 13 ราย

-คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย

-สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย

-ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 5 ราย

-อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานสถานที่แออัด ใกล้ชิดต่างชาติ 19 ราย

-บุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพบเชื้อแต่รอบสอบสวนเพิ่ม 12 ราย

“การกระจายตัวของผู้ป่วยนั้น ณ วันนี้ตัวเลขต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรุงเทพฯ ก็ยังสูง โดยตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสม พบว่ากรุงเทพฯ ทะลุผู้ป่วยทะลุพันคนแล้ว และยังพบพื้นที่เดิมๆ ทั้งปริมณฑล จังหวัดภาคตะวันออก สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังมี 11 จังหวัดไม่พบผู้ป่วย โดยไม่มีรายงานรับการรักษา ซึ่งประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี อ่างทอง ซึ่งต้องขอขอบคุณทางผู้ว่าราชการฯ และประชาชน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามตรึง แต่ตัวเลขจังหวัดที่ไม่พบก็เริ่มน้อยลง ตอนนี้เหลือ 11 จังหวัดแล้ว เราต้องพยายามกันมาก เพราะมีความเสี่ยงทุกจังหวัดแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด ตั้งแต่ 3 ม.ค. - 4 เม.ย. 2563 พบว่า โดยผู้เสียชีวิต 20 ราย เพศชายสูงกว่าเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิต กลุ่มอายุ 50-69 ปี 9 ราย เชื่อมโยงกับการไปต่างประเทศ มีอาชีพเสี่ยง ส่วนอายุ 70 ปี 8 ราย พบว่า 50% เชื่อมโยงกับสนามมวย และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ฯลฯ ทั้งนี้ อายุ 80-89 ปี อัตราเสี่ยงเสียชีวิต 16.7% รองลงมา 70-79 ปี อัตราป่วยเสียชีวิต 10.5% ดังนั้น อย่าใกล้ผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงนำเชื้อไปผู้สูงอายุได้