สถานการณ์โรคโควิด-19 (15 เม.ย.) ติดเชื้อรายใหม่ 30 คน ยอดรวมสะสม 2,643 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมเสียชีวิต 43 คน มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 92 ราย รวมมีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 1,497 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,103 ราย
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทยพบ ผู้ติดเชื้อสะสม 2,643 ราย ใน 68 จังหวัด ผู้ป่วยใหม่ 30 ราย ใน 8 จังหวัด เข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร (17), ยะลา (3), ปัตตานี (3), ภูเก็ต (3), นนทบุรี (1), ชุมพร (1), ขอนแก่น (1), นราธิวาส (1) รักษาหายป่วยแล้ว 1,497 ราย (56.6%) เพิ่มขึ้น 92 ราย รักษาอยู่ 1,103 ราย เสียชีวิตรวม 43 ราย เป็นผลจากการที่ทุกคนร่วมร่วมใจกันอย่างดี ทำให้สามารถควบคุมตัวเลขได้ ทั้งนี้ กลุ่มอายุผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบกลุ่มอายุ 30 - 39 เคย และอายุเฉลี่ยที่ติดเชื้อคือ 40 ปี เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
สำหรับกรณีที่เสียชีวิตรายที่ 42 เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 65 ปีอาชีพขายอาหารที่ถนนคนเดิน มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง วันที่ 7 มีนาคม 2563 มีอาการไข้สูงไอ ได้ซื้อยามารับประทานเอง และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันที่เป็นสมาชิกในบ้าน ได้รับการส่งตรวจหาเชื้อและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ผลการตรวจผลยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด - 19 แพทย์ก็ให้ยา Favipiravir ซึ่งเป็นยามาตรฐานที่ใช้ในรักษาโรคนี้แต่ 22 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยหายใจเหนื่อยหอบมากขึ้นผลเอกซเรย์ปอดพบว่ามีการอักเสบในปอดอย่างรุนแรงและมีหัวใจโตด้วย 6 เมษายน 2563 ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตตก และเสียชีวิตในวันที่ 13 เมษายน 2563
และรายที่ 43 เป็นผู้ป่วยชาวไทย อายุ 60 ปีมีประวัติเดินทางไปร่วมพิธีทางศาสนาอิสลามที่อินโดนีเซีย และเดินทางกลับไทยวันที่ 2 เมษายน 2563 เริ่มมีอาการไข้สูง 38.4 องศาเซลเซียส เริ่มมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและได้รับการส่งตรวจหาเชื้อต่อมาผลยืนยันว่าเป็นเคสผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตในวันที่ 14 เมษายน 2563 ขอแสดงความเสียใจกับทั้ง 2 ครอบครัวด้วย หากมีอาการต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับลักษณะดังกล่าวก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้ผลโดยเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยใหม่ 30 ราย นั้น
ผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นจากระบบการเฝ้าระวังและการบริการ 29 ราย พบว่ามีสัมผัสกับกลุ่มก้อนเดิมผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย และเป็นกลุ่มอื่น ๆ ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ฝรั่งเศส 1 ราย ไปห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย สำหรับการกระจายของผู้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ พบกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด (1,328 ราย) ตามด้วย ภูเก็ต (190) นนทบุรี (149) สมุทรปราการ (108) ยะลา (93), ปัตตานี (85) ชลบุรี (81) สงขลา (56) เชียงใหม่ (40) และปทุมธานี (33) โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 71 ราย อย่างไรก็ตามแต่ถ้าเปรียบเทียบต่อแสนประชากรภูเก็ตเป็นอันดับหนึ่ง กรุงเทพฯ อันดับ 2 ยะลา นนทบุรี และปัตตานี ตามลำดับ โดยมี 9 จังหวัดที่ยังไม่พบมีรายงานการรักษาผู้ป่วยที่ผู้ติดเชื้อโควิด -19 ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง
โฆษก ศบค. ชี้แจงแผนภูมิภาพให้เห็นข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม 2563 กับเมษายน 2563 ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ขณะนี้ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรีกับสมุทรปราการ) พบปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ หมายถึงถึงการเดินทางหรือติดกับคนที่มาจากต่างประเทศ การติดเชื้อนอกบ้านและติดเชื้อในบ้าน พบว่ารูปแบบของเดือนมีนาคม มาจากต่างประเทศ 15% เมษายนขยับเพิ่มเล็กน้อยมาจากต่างประเทศเป็น 17% แต่ติดเชื้อนอกบ้านในเดือนมีนาคม 77% และในช่วงของเมษายนลดลงเหลือ 60% แต่เพิ่มมากขึ้น คือ การติดเชื้อในบ้านจาก 8% เป็น 23% เกือบ 3 เท่า ซึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ไทยประกาศเคอร์ฟิว และมีประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งทุกคนสามารถควบคุมได้โดยเมื่ออยู่ในบ้านให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และมีระยะห่างกัน 2 เมตร ก็จะทำให้การติดเชื้อลดลง
โฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ตามปัจจัยเสี่ยง ในจังหวัดชลบุรีว่า ช่วงเวลาแรกคือระยะผู้ป่วยนำเข้า ตั้งแต่ 17 มีนาคม 2563 มีรายแรกที่รายงาน จากนั้นมาก็พุ่งไปที่ 22 และมีระยะที่ 2 คือระยะนำเข้าและแพร่โรคต่อในจังหวัดเฉพาะกลุ่มและสถานที่เสี่ยง พบมีทั้งชาวต่างชาติ กลุ่มเที่ยวสถานบันเทิง มีผู้สัมผัสส่วนใหญ่เป็นที่มีการสังสรรค์กันเนื่องด้วยพฤติกรรมของกลุ่มคนกับโรคมีความสัมพันธ์ ขณะนี้ ทางการได้สั่งห้ามปิดห้าง ปิดหาดต่าง ๆ ในพื้นที่
ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยหายต่อวันและผู้ป่วยหายสะสม ดีขึ้นต่อเนื่อง และตัวเลขที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลก็กำลังลดลง สถานการณ์นี้ทำให้แพทย์มีเวลาดูแลคนไข้และผู้ป่วยแต่ละรายได้มากขึ้น และยังทำให้มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับสำหรับคนผู้ป่วยใหม่ด้วย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่แต่ละวัน พบว่าในต่างจังหวัดลดลง ขณะที่ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่ง เพราะมีวิธีการตรวจที่เรียกว่า Active Case finding คือเป็นการผ่อนคลายและขยายกฎระเบียบในการตรวจหาเชื้อ ในกรณีที่มีผู้สงสัยว่าตนเองจะป่วยเป็นโควิด -19 ก็เข้ามาตรวจเช็คได้ โดยภาครัฐจะเป็นคนที่ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งขณะนี้ศักยภาพของการตรวจก็ได้มากขึ้น ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลถ้าสงสัยว่ามีอาการเหล่านั้นก็มาตรวจได้ตอนนี้ผ่อนคลายมากขึ้นแล้ว
โฆษก ศบค. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด -19 ในประเทศไทยผ่านแผนภูมิรูปภาพประเทศไทย พบผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ตรงกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด หลายจังหวัดใช้ข้อมูลชุดเหล่านี้ไปดูแลคนในจังหวัด ถึงแม้เรื่องของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นเรื่องของส่วนกลาง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สามารถใช้ข้อมูลในพื้นที่ดูแลพื้นที่ของตนเองได้ให้สอดคล้องตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด
หน้ากากอนามัย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ในทางการแพทย์ ได้รับมาจำนวน 19,911,500 ชิ้น มีการส่งมอบแล้ว 16,890,700 ชิ้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้รับมาจำนวนประมาณ 11,000,000 ล้านกว่าชิ้น ส่งมอบไปแล้ว 10,900,000 กว่าชิ้น โดยมีการจัดส่งหน้ากากอนามัยให้หลายกลุ่มแล้ว หากไม่ได้รับสามารถประสานมาที่ 1111
- 45 views