เผยผลสำรวจ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19” ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องการงดออกจากบ้าน โดยคิดว่าหากไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ สามารถออกไปสถานที่ต่าง ๆ ได้
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 นายปราโมทย์ ถ่างกระโทก อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ในฐานะเลขานุการเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย (Nursing Research and Innovation Network of Thailand) กล่าวว่า จากที่ได้ทำการศึกษา เรื่อง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จำนวน 2,906 ตัวอย่าง ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า
1. ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับช่องทางการแพร่กระจายของเชื้อเพียงร้อยละ 30.9 มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการล้างมืออย่างถูกวิธีร้อยละ 69.0 มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการไอและการจามที่ถูกวิธีร้อยละ 55.2 มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีร้อยละ 80.0
2. ทักษะการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สามารถค้นหาหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทันทีร้อยละ 98.5 และประชาชนส่วนใหญ่สามารถค้นหาหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยร้อยละ 97.4
3. ทักษะการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ บุคลากรด้านสุขภาพร้อยละ 96.9
4. ทักษะการตัดสินใจเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จะไปพบแพทย์ทันทีร้อยละ 99.3 หากสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อโรค จะแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำการดูแลรักษาร้อยละ 99.7 หากไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ สามารถออกไปสถานที่ต่าง ๆ ได้ เนื่องจากไม่มีการติดเชื้อและไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้พบมากถึงร้อยละ 77.1
5. ทักษะการจัดการตนเองเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประชาชนทั้งหมดมีการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ทำตามแผน และทบทวนแผนการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
6. ทักษะการรู้เท่าทันสื่อเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.4 หลงเชื่อและจะปฏิบัติตามข่าวปลอมที่ได้รับ
นายปราโมทย์ กล่าวว่า “จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมืออย่างถูกวิธี การไอและการจามที่ถูกวิธี การสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบถึงขั้นตอน และหลักการปฏิบัติอย่างละเอียดและถูกต้อง โดยใช้ภาษาและการสื่อสารที่เข้าใจและจดจำได้ง่าย รวมไปถึงการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองไม่ให้สัมผัสเชื้อดังกล่าว อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า หากไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ สามารถออกไปสถานที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องเน้นย้ำและสร้างความตระหนักให้ประชาชนงดออกจากบ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการเจ็บป่วยก็ตาม
นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังหลงเชื่อข้อมูลและข่าวปลอมที่ได้รับการส่งต่อในโลกหรือสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น จึงต้องเร่งเสริมสร้างให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวปลอม และสามารถเลือกใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปใช้ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป”
- 283 views