สธ.พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 143 ราย กลับบ้าน 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย พบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 8 ราย ใน 6 รายติดจากผู้ป่วย มี 1 รายไม่ใช่ ส่วนอีกรายไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างสอบสวน ชี้หมอติดเชื้อสำคัญ เพราะมีผลต่อผู้ป่วยที่ดูแล ทั้งสูงวัย-โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบยังคงเกี่ยวข้องกับ สนามมวย สถานบันเทิง
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 111 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิต 7 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบยังคงเกี่ยวข้องกับ สนามมวย สถานบันเทิง และเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่มีการรายงานไปก่อนหน้านี้ ส่วนผู้ป่วยยืนรายใหม่ส่วนใหญ่พบว่า กลับไปจากพื้นที่เสี่ยง มากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในจังหวัดเข้าไปดูแล และสังเกตการณ์อย่างเข้มงวดมากขึ้น
โดยกลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ลักษณะการเกิดโรคตามกลุ่มอายุจะเห็นว่า คนไทยเจอในวัยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงค่อนข้างต่ำ คือ ช่วงอายุ 20-59 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากจีนจะพบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปียังไม่มีเสียชีวิต ขณะที่อายุระหว่าง 10-39 ปี พบอัตราเสียชีวิตต่ำ แต่อัตราเสียชีวิตจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อย่างอายุ 60 ปี พบอัตราเสียชีวิตประมาณ 3.6% ส่วนอายุ 70-79 ปี พบอัตราเสียชีวิตประมาณ 8 % และอายุ 80 ปีขึ้นไปพบอัตราเสียชีวิตสูงถึง 14.8% จึงเป็นเหตุผลที่ต้องระวังเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงวัย
“สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ชัดเจน 6 คนติดจากผู้ป่วย แต่อีก 2 คน โดย 1 คนค่อนข้างชัดไม่ได้ติดจากผู้ป่วย ส่วนอีกคนจากประวัติไม่ชัดเจน ต้องทำการสอบสวนกันต่อไป แต่บุคลากรทางการแพทย์ ความสำคัญคือ เขาติดมาจากไหน และเมื่อติดแล้วเขาหยุดพักหรือไม่ เพราะหากเกิดมีอาการและรู้ตัวช้า จะมีผู้สัมผัสเขาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรังก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ จึงไม่อยากเห็นบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ จึงต้องออกแบบการป้องกันในรพ.ให้ดีที่สุด และขอให้บุคลากรดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ป่วยกระจายไป 59 จังหวัด โดยลักษณะจังหวัดหลักๆ อย่างกลุ่มแรก จะมีบางจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลย ซึ่งมีหลายจังหวัด โดยลักษณะการดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรคจะแตกต่างกัน ความเข้มข้น วิธีคิดในการป้องกันโรคจะไม่เหมือนกัน อย่างผู้ป่วยระยะแรกที่จะเจอก็จะเป็นผู้ป่วยเดินทางจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องติดตามคนเดินทางเข้าพื้นที่ให้ได้ 14 วัน หากใครเข้าพื้นที่ต้องรีบเข้าไปดูว่าเป็นใคร และขอความร่วมมือการกักตัว
กลุ่มจังหวัดลักษณะที่ 2 เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยๆ ก็จะเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นที่มีการแพร่ระบาดอยู่แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์การยุติโรคให้ได้โดยเร็ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำให้เร็ว โดยหน้าที่จะร่วมมือกัน มีทั้งฝั่งสาธารณสุขที่ต้องลงไปสอบสวนควบคุมโรค เราต้องการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ต้องติดตามผู้ป่วย 14 วัน และหากเรายิ่งมีจังหวัดที่ปลอดผู้ป่วยมากเท่าไหร่ การควบคุมโรคในจังหวัดใกล้เคียงจะง่ายขึ้น
กลุ่มจังหวัดลักษณะที่ 3 เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ยังไม่แพร่ไปวงกว้าง เช่น สุรินทร์ อุดรธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา วิธีการดำเนินงานจะเหมือนกรุงเทพฯ โดยเน้นหนัก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกตรวจจับผู้ป่วยให้เร็วและลงไปสอบสวนโรค และอีกเรื่องคือดำเนินมาตรการทางสังคมเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลมากยิ่งขึ้น ลักษณะงานจะคล้ายกับกรุงเทพฯ แต่สถานการณ์จะดีกว่ากรุงเทพฯ
“มาตรการที่มีความสำคัญและสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเพิ่มระยะห่างของระหว่างผู้คน ซึ่งเราก็เห็นมาตรการที่ทางกรุงเทพฯได้ประกาศออกมาแล้ว และ ครม.ก็ผ่านความเห็นชอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการให้ภาครัฐ ภาคเอกชนลดจำนวนคนเดินทางมาทำงานในสถานที่ทำงาน ซึ่งหลายที่ให้ความร่วมมืออย่างดี เช่น ปตท. พยายามลดคนที่จะเข้ามาทำงานออฟฟิศ และอีกหลายบริษัทก็ร่วมมือเป็นอย่างดี ในส่วนราชการก็เช่นกัน มาตรการเหลื่อมเวลาก็สำคัญ ดังนั้น กลุ่มจังหวัด แบ่งออกเป็น กทม.อีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่สองแพร่ไปเยอะ กลุ่มที่สาม ยังไม่มาก กลุ่มที่ 4 น้อยกว่า 1 คน หรือไม่มี และกลุ่มที่ 5 กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
- 5 views