สสส.ย้ำ 5 คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพของ WHO ช่วยลดติดโควิด-19 ได้ พร้อมไฟเขียวภาคีเครือข่าย ปรับโครงการเน้นป้องกันโควิด-19 เสริมทัพภาครัฐ สธ. เติมเต็มช่องว่าง เน้นงานชุมชน-แรงงานนอกระบบ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อการชะลอการระบาด เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแถลงข่าวให้คำแนะนำ 5 ด้านสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการติดโควิด-19 ได้แก่
1.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีสารอาหารครบถ้วน เพราะจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ
2.ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มรสหวาน
3.ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการติดโควิด-19 ในระดับที่อันตรายรุนแรง
4.ออกกำลังกายโดยแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีสำหรับผู้ใหญ่ และวันละ 1 ชั่วโมงสำหรับเด็ก เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ โดยรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากบุคคลอื่น ๆ หรือทำกิจกรรมภายในบ้าน
5.ดูแลสุขภาพจิต อ่านหนังสือ ฟังเพลง ลดการดูข่าว เพื่อลดความเครียด สับสน หรือหวาดกลัว
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ชี้ถึงพื้นฐานที่สุดสำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอยู่ที่การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่ สสส.ดำเนินการอย่างเข้มข้นมาโดยตลอดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยให้แข็งแรง ปลอดจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการลดคนสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวานแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดเชื้ออีกด้วย และแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ของคนไทยถือดีว่าขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนไทยสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกในรอบ 8 ปีที่คนไทยมีกิจกรรมทางกายมากที่สุดคือ ร้อยละ 74.6
“ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 สสส.ได้ปรับแผนการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับพัฒนาโครงการหรือปรับแนวการทำงานให้มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 เป็นลำดับแรก โดยต้องเป็นแผนการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเติมเต็มช่องว่างการทำงานที่มีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ต่อยอดตำบลสุขภาวะกว่า 2,600 ตำบลให้เป็นต้นแบบจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับตำบล เพื่อรับรับปัญหาการแพร่ระบาดที่เริ่มกระจายตัวจากกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่สู่ตำบลชนบท รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งองค์ความรู้ การป้องกันตนเอง และการเฝ้าระวังโรค โดยเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานสุขภาพในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ อสม.ทั่วประเทศ เพื่อร่วมพลังคนไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างเร็วที่สุด” ผจก.กองทุน สสส. กล่าว
- 69 views