“หมอธีระ” ชี้ การรับมือแพร่ระบาดโรค COVID-19 ของไทยเดินมาตรการเหมาะสม ประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งควบคุมเชื้อแพร่กระจายอย่างเข้มข้น เน้นคำนึงผลกระทบทุกมิติ การแพทย์ เศรษฐกิจและสังคม พร้อมวางมาตรการรองรับ ระบุผลสำเร็จขึ้นกับตัวแปรความร่วมมือของประชาชน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่เข้าสู่ในระยะที่ 3 จำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการจัดทำมาตรการรองรับอย่างเข้มข้น โดยการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มองว่าเป็นมาตรการดีที่สุดในขณะนี้ เพื่อจำกัดให้คนอยู่กับที่ ลดการขยายและเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส ทั้งการปิดไม่ให้คนต่างชาติเข้าประเทศ และการกันไม่ให้คนในประเทศเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการจำกัดการให้บริการต่างๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยเว้นในส่วนจำเป็นในการดำรงชีพ เช่นสถานที่เพื่อให้สามารถซื้ออาหาร การให้หน่วยงานต่างๆ ให้อนุญาตบุคลากรทำงานที่บ้าน ยกเว้นบางงานที่จำเป็น แต่หากเข้าสู่การแพร่ระบาดที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นคงต้องให้ทำงานที่บ้านทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา
ขณะเดียวกันในส่วนของบุคคลต้องดำเนินมาตรการดูแลตนเองเช่นกัน ทั้งการใส่หน้ากากเพื่อป้องกัน การไม่เข้าไปในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยง รวมถึงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ Social distancing เพื่อป้องกันตนเองและลดการแพร่กระจายเชื้อ เพราะเราไม่รู้ว่าใครติดเชื้อแล้วบ้าง เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องช่วยกันปฏิบัติ
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่การดำเนินมาตรการต้องควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช้ใช้ยาแรงโดยทันทีแต่ทำให้เกิดผลกระทบที่แรงมาก เช่น หากจะให้คนอยู่แต่ในบ้านโดยไม่ออกจากบ้านเลย จะต้องมีมาตรการในการนำส่งอาหาร การสั่งหยุดงานก็ต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาการขาดรายได้ เพื่อให้คนเหล่านี้อยู่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับการจัดบริการทางการแพทย์รองรับ ต้องมีการจัดระบบโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดกรอง รับส่งต่อผู้ป่วย ดูแลในรายที่อาการหนัก ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจัดระบบการดูแลคนไข้โรคอื่นๆ เช่นกัน เช่น การจัดบริการรับยาใกล้บ้านเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องมีศูนย์ปฏิบัติการโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ และสั่งการ รวมถึงการสื่อสารที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“การจัดการปัญหาการแพร่ระบาดโรคไวรัส COVID-19 เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจัดการรอบด้านอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ได้ร่วมกันวางแผนในการสกัด เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายออกไปจนกลายเป็นวิกฤตที่เกินเยียวยา”
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ในช่วงแรกของเดือนมีนาคม ประเทศไทยมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเทียบเคียงได้กับเยอรมันที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ราว 33% ต่อวัน จำเป็นต้องให้มีการดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มข้นกว่าเดิม มิฉะนั้นหากปล่อยให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าพันรายโดยไม่มีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมจากที่เคยทำแล้ว การจะลดการแพร่ระบาดลงมาให้อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 33% คงจะทำได้ยาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะทวีคูณอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 15% จะเป็นผู้ป่วยรุนแรง และมีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจราว 5% ผู้ป่วยหนักเหล่านี้จะทำให้ระบบสุขภาพที่มีอยู่เดิมแบกรับภาระหนักและใช้ทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต้องรอดูว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมานี้จะสามารถฉุดตัวเลขผู้ป่วยได้แค่ไหน ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ แต่ถือว่าตอนนี้ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการและได้รับการตอบรับค่อนข้างเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับเยอรมันและประเทศอื่นๆ ดังนั้นการลดอัตราการแพร่ระบาดของไทยก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น และหากดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบน่าจะหยุดการแพร่ระบาดได้ในช่วง 6-9 เดือนก็จะถือว่าดีมากแล้ว
“ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการคาดการณ์ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดนอกจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่ประชาชน หากไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงเหมือนอิตาลี ทุกคนต้องช่วยกัน ผลที่ได้อาจทำให้การแพร่ระบาดยุติได้เร็วว่าที่คิด” รศ.นพ.ธีระ กล่าวและว่า ส่วนที่มองว่าจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวเลยหรือไม่นั้น ยังมองในแง่ดี เพราะหากรัฐบาลประกาศใช้ยาแรงเลยแต่คนไม่ปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมามองว่าคนไทยมีความตระหนักต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับหนึ่งและตอบสนองต่อมาตรการต่างๆ ได้ดี การทยอยดำเนินมาตรการตามความจำเป็นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
- 6 views