1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาลกับการตั้งรับ “โรคโควิด-19” เปลี่ยนไปชัดเจน หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ทะลุ 50 – 60 คนต่อวัน และการระบาดเริ่มกระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
หลายโมเดล ที่แสดงถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ถูกนำเสนออย่างแพร่หลาย น้ำเสียงที่รัฐบาลบอกกับคนไทยไม่ใช่ว่า “จัดการได้” อีกต่อไป แต่คือมันจะเลวร้ายต่อไปอีกระยะ
แน่นอน นี่คือการจัดการแบบเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่ยังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ในยุโรป ที่เริ่ม “ล็อกดาวน์” ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 และยังไม่เห็นตอนจบของโควิด – 19 ว่าจะอยู่จุดใด
ไม่มีใครพูดถึงระยะ 2 หรือระยะ 3 ต่อไปแล้ว เพราะ ณ ขณะนี้ ชัดเจนว่าไทย ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 คือมีการระบาดจากคนสู่คนในประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่ทราบที่มา ว่ามาจากไหน
ตัวเลขหลากหลายชุด ถูกนำมาวางบนโต๊ะ เพื่อสร้างแบบจำลองว่า หน้าตาของประเทศจะเป็นไปอย่างไรต่อไป หากต้องอยู่ใต้โควิด – 19 ไปอีกระยะ ตัวเลขของกรมควบคุมโรค เสนอ 3 ทางเลือก ตั้งแต่เลวร้ายสุดคือการควบคุมโรคไร้ประสิทธิภาพ 1 ปี มีผู้ติดเชื้อ 16.7 ล้านคน ผู้ป่วย 1 คน จะแพร่เชื้อได้ 2.2 คน ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ระบบโรงพยาบาล จะ “พังพาบ” ไปทันที
ส่วนกราฟที่ 2 คือกราฟที่กรมควบคุมโรค คิดว่าจะ” เป็นไปได้” มากที่สุด คือ 1 คน แพร่เชื้อต่อได้ 1.8 คน และจะระบาดช้าๆ ก่อนไปพีคที่ ม.ค. - ก.พ. 2564 ซึ่งถ้าหากเป็นกราฟนี้ จะพอรับได้ และกราฟที่ 3 คือ 1 คน แพร่ต่อได้ 1.6 คน และจะมีผู้ป่วย 4 แสนคน ใน 2 ปี
ปัญหาก็คือ ณ ตอนนี้ ตัวเลขผู้ป่วยยังคงดิ่งชันขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีใครรู้ว่าจะ “ชัน” น้อยลงเมื่อไหร่ และวิธีที่เดินอยู่อย่างการงดวันหยุดสงกรานต์ การปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมถึง การขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านนั้น จะลดความชันได้หรือไม่ ก็ยังไม่มีใครรู้
แต่สิ่งที่ยืนยันได้จาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ก็คือ ไทยจะไม่แย่เท่ากราฟที่ 1 และจะไม่เป็นจีน อิตาลี และเกาหลีใต้ แน่นอน หากวัดจากอัตรา “ความชัน” ในขณะนี้ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือลดความชันให้ได้น้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคหวัดตามฤดูกาล ให้เป็นแบบกราฟที่ 3 ให้ได้มากที่สุด
1 ปี ป่วย 1 ล้านคน เป็นไปได้มากสุด และน่าจะอยู่วิสัยที่ “รับได้”
นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งโมเดล ระบุว่า ณ ขณะนี้ ไทยกำลังอยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่ยอดผู้ป่วย กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะวิ่งขึ้นสูงสุดในช่วงปลายเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือน พ.ค.
ด้วยโมเดลนี้ 1 ปี จะมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน ซึ่งถ้าหากผ่านช่วงพีค คือตั้งแต่ช่วงนี้ ไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. หมอนิธิพัฒน์ เชื่อว่าระบบสาธารณสุข จะ “เอาตัวรอด” ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ขอให้คนไทย หยุดออกจากบ้าน ลดความเสี่ยงในการสัมผัสทุกชนิด
หมอนิธิพัฒน์ ขยายความว่า ด้วยการคาดการณ์นี้ ผู้ป่วย 1 คน จะสามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1.6 คนจาก 1.1 ล้านคน อาจจะมีผู้ป่วยที่แสดงอาการ 2 แสนคน ซึ่งต้องเข้าโรงพยาบาล และใน 2 แสนคน จะเข้าโรงพยาบาลราว 3 หมื่นคน และเข้าห้อง “ไอซียู” ราว 1 หมื่นคน
ในไอซียู 1 หมื่นคน ช่วงพีคที่สุดคือเดือน มี.ค. - พ.ค. จะมีผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ที่ต้องเข้าห้องไอซียูราว 2,500 คน ต่อเดือน ซึ่งในระยะแรกแพทย์ - พยาบาล อุปกรณ์ อาจไม่พอนัก แต่เชื่อว่ามีเวลาในการบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมือได้
ในความเห็นของนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เชื่อว่าด้วยตัวเลขตามโมเดลนี้ จะอยู่ในวิสัยที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐสามารถจัดการได้ และแม้จะไม่ “ล็อกดาวน์” โดยรัฐ ให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง ก็น่าจะเอาอยู่
“ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ก็อาจจะเข้าโรงพยาบาลที่ดูแลเฉพาะเคสโควิด – 19 แค่ 48 ชั่วโมง หลังจากนั้น ก็ให้กักตัวดูอาการที่บ้าน ส่วนผู้ป่วยอื่นๆ และผู้ป่วยหนัก ก็เข้าโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียูต่อไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในที่สุด ทรัพยากรในโรงพยาบาลจะหมดไปกับการรักษาโรคนี้มากเกินไป ซึ่งในระดับนโยบาย ต้องคุมการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เตียง เครื่องมือช่วยชีวิต ไม่ให้ขึ้นไปถึง 100% แบบในจีน หรือในอิตาลี
ส่วนการ “ตรวจมาก เจอมาก” แบบที่เกาหลีใต้ทำนั้น ไทยอาจยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะถึงตรวจเจอเยอะ แต่ทรัพยากรในการรองรับผู้ป่วยที่ผลเป็นบวก ก็จะ “ตึงมือ” เกินไปอยู่ดี
“สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ก็คือการให้ผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น ที่รู้ตัวว่ามีไข้ ไอ อยู่กับบ้านในระยะเริ่มต้น เพราะถ้าป่วยพร้อมกันมากๆ เข้า จะไม่สามารถตรวจได้หมด แล้วเราจะใช้ทรัพยากรกับการตรวจมากเกินความจำเป็น” นพ.นิธิพัฒน์ ระบุ
นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตรวจมาก – เจอมาก จะสามารถช่วยได้ แต่ปัญหาก็คือ ตรวจมาก จะต้องเสียทรัพยากรไปมากเช่นกัน เฉพาะกับการตรวจเพียงอย่างเดียว และในไทย ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าต้องตรวจมากขนาดไหน
“ด้วยทรัพยากรที่มี จะทำให้ไทย ต้องถูกดึงทรัพยากรไปใช้กับการ “ตรวจ” ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรไปสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น” นพ.กำธร ระบุ
เพราะฉะนั้น การเพิ่มระยะห่างระหว่างคน การเก็บทรัพยากรไว้ตรวจและรักษาสำหรับผู้ที่จำเป็นเท่านั้น อาจเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า
“โรคนี้จะระบาดแน่นอน แต่เราต้องทำให้อยู่ในระดับที่เราสามารถรองรับ และบริหารจัดการได้” นพ.กำธร กล่าว
“ล็อคดาวน์” อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป
ถามถึงปัญหาในยุโรป ซึ่งในขณะนี้ โควิด – 19 กระจายไปทั่วทั้งทวีป จำนวนผู้ติดเชื้อทำลายสถิติรายวัน ว่าผิดพลาดตรงไหน ทั้งที่มีทั้ง “ปิดเมือง” “ปิดประเทศ” และ “ปิดทวีป” แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ขึ้นไปเรือนหมื่นแทบทุกประเทศแล้ว
“ผมคิดว่าเขาปิดช้าไป เขารู้ตัวช้าไป คือกว่าที่จะปิดได้ ก็ระบาดไปทั่วแล้ว” นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
สำหรับยุโรป นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ เห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปล่อยให้ติดให้หมดจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ที่มีจำนวนที่มากพอ จนช่วยการป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคตได้ และจะช่วยกดความชันของกราฟลง คล้ายโมเดลที่ 1 ของกรมควบคุมโรค คือเริ่มเร็ว พีคเร็ว และจบเร็ว
แต่สำหรับของไทยนั้น ในความเห็นของนายกสมาคมอุรเวชช์ ยังพอมีเวลาในการลดคนจากมาตรการปิด ส่วนจะปิดมากปิดน้อย และใช้มาตรการมากแค่ไหนนั้น เขาไม่แน่ใจ แต่ขอให้คนไทยทุกคนทำเหมือนว่าทุกอย่างได้ถูกปิดแล้ว และต้องปิดกั้นตัวเองในที่ชุมชน ที่สาธารณะทั้งหมด
ส่วนคำถามว่าเมื่อไหร่จะได้ “เปิด” อีกรอบนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องดูว่ากราฟจะเริ่มชันน้อยลงเมื่อไหร่ และอยู่ในวิสัยที่โรงพยาบาลจะโหลดน้อยลงได้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามโมเดลคือทุกคนให้ความร่วมมือ ภายในสิ้นเดือน เม.ย. หรืออีกหนึ่งเดือนเศษๆ ข้างหน้า ก็อาจจะได้กลับมาเปิดอีกครั้ง แต่หากได้ผลอย่างดีเยี่ยม การปิดอาจไม่ได้นานขนาดนั้นก็เป็นได้
“แต่ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าคุณคุมได้แล้ว จัดการได้แล้ว ถ้าเปิดทุกอย่างโดยที่ไม่พร้อม การปิดทุกอย่างที่ผ่านมาก็จะไม่ได้มีความหมายอะไร” นพ.นิธิพัฒน์กล่าว
Flatten the curve สู่การรณรงค์ทั่วโลก
อันที่จริง โมเดลว่าด้วยการลดความชันนั้น ไม่ได้มีในไทยที่เดียว แต่ทั่วโลกรณรงค์ในรูปแบบที่คล้ายกัน ด้วยการใช้คำว่า “Flatten the curve” หรือบีบ Curve ให้ชัดน้อยลงให้ได้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงจุดที่ผู้ป่วยเข้ามามากๆ ทีเดียวพร้อมกัน ในการรักษาระบบสาธารณสุข ให้สามารถ “ยัน” กับจำนวนผู้ป่วยได้ไหว โดยใช้สถานการณ์ Worst-Case Scenario เป็นตัวตั้ง แล้วหามาตรการต่างๆ ในการชะลอความชัน
ประเทศที่ทำสำเร็จได้แก่ เกาหลีใต้ ซึ่งใช้วิธีตีวงล้อม ระดมตรวจ และไล่ตามหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ แล้วตามกักกัน – รักษา แต่ละคน จนสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ หรือไต้หวัน ที่ใช้วิธีจัดการแบนการเดินทางเข้าออกประเทศ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด แล้วตีวงจำกัด กักกันโรค ทยอยรักษาจนมีผู้ติดเชื้อไม่มาก และกราฟคงที่ ไม่ชันเท่ากับประเทศอื่น
นิตยสารฟอร์จูน (6 steps to sustainably flatten the coronavirus curve) สรุป 6 ขั้นตอนที่ใช้ในการเปลี่ยนทิศทางความชันกราฟ ในสหรัฐอเมริกา ศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ของโควิด - 19 ได้แก่
1.เตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ชุดตรวจ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงลงทุนสร้างระบบให้ประชาชนทราบว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะอยู่บ้าน หรือเมื่อไหร่ ที่ควรจะไปพบแพทย์
2.สร้างความรู้เรื่อง Social Distancing ให้มากขึ้น ตลอด 45 – 90 วันต่อไป มาตรการดังกล่าว จะมีความสำคัญมากในการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ไม่ให้เพิ่มจำนวนมากเกินไปจนไปพังระบบสาธารณสุข
3.เปลี่ยนรูปแบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมระบบเทคโนโลยีสำหรับทำงานที่บ้าน การสร้างระบบวัดไข้ ก่อนเข้าร้านอาหาร โรงเรียน หรือออฟฟิศ ขณะเดียวกัน ระบบสาธารณสุขก็ต้องเพิ่มระบบการตรวจหาแอนติบอดี ทดลองซ้ำๆ ว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากพอหรือยัง ก่อนจะเปิดทำการทุกอย่างตามปกติ
4.ปรับระบบกฎหมาย เพื่อดูแลพนักงาน – ลูกจ้าง และเพิ่มสวัสดิการ ในกรณีที่พนักงาน จำเป็นต้องลางาน และเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ หากพนักงานต้องลาป่วยด้วยโรคนี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มมาตรการคุ้มครองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงการระบาด เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับคนทำงาน
5.ลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจ ยาต้านไวรัส หรือวัคซีน รวมถึงสร้างระบบเตรียมความพร้อมที่เข้มข้น หากไวรัสนี้ เกิดการ “กลายพันธุ์”
6.เพิ่มการสื่อสารให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการจากรัฐในเวลานี้คือข้อมูลที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นเอกภาพ ว่าในห้วงเวลานี้ ควรทำอย่างไร ควรระมัดระวังอะไรบ้าง และข้อมูลเหล่านี้ ต้องลงไปถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
อ้างอิงจาก บทความเรื่อง 6 steps to sustainably flatten the coronavirus curve (fortune.com)
- 1147 views