นายกสมาคมเครื่องมือแพทย์ฯ ห่วงจำนวนอุปกรณ์ไม่เพียงพอหากเกิดวิกฤต-โควิดระบาดหนัก จี้รัฐบาลตั้ง คกก.บริหารเครื่องมือภาวะฉุกเฉิน เช็คจำนวนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย และประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์แห่งอาเซียน เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ขณะนี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติในภาวะวิกฤต" ขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ภายในประเทศ
ภก.ปรีชา กล่าวว่า สิ่งสำคัญขณะนี้คือการเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เครื่องช่วยหายใจ" ที่เป็นอุปกรณ์หลักในการใช้กับผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่ส่งผลต่อการทำงานของปอด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น หน้ากาก ถุงมือ ชุดป้องกัน (PPE) หรือเครื่องให้ยา (Infusion pump) เป็นต้น เพื่อวางแผนรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นหากสถานการณ์การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3
"สิ่งที่กังวลมากคือหากการระบาดรุนแรงขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น เราได้มีการเตรียมความพร้อมพอแล้วหรือยัง ระดมความคิดร่วมกันว่าการดูแลผู้ป่วยโควิดต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วเรามีกี่เครื่อง อยู่ที่ไหน ถ้าไม่เพียงพอเราจะเอาจากไหนมาช่วย มีโรงพยาบาลไหนเหลือใช้ หรือมีผู้ประกอบการนำเข้ารายใดบ้าง ตอนนี้เราต้องมีเช็คลิสต์แล้วว่าแต่ละอย่างเป็นอย่างไร" ภก.ปรีชา ระบุ
นายกสมาคมฯ ระบุว่า แม้วิกฤตอาจไม่ร้ายแรง แต่การเตรียมความพร้อมดังกล่าวจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดวิกฤตแล้วจะสามารถดำเนินการตามแผนได้เลย ซึ่งเชื่อว่าภายใต้สถานการณ์นี้ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ เพียงแต่ยังขาดการบูรณาการให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว หากในอนาคตเกิดภาวะวิกฤตฉุกเฉินก็จะมีข้อมูลและสามารถบริหารงานต่อได้ในโอกาสหน้า
"ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลเครื่องมือทั้งหมดของประเทศ ต้องดูภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งเราอาจมีเพียงพอก็ได้ หรือจะโยกย้ายมาใช้ร่วมกันได้หรือไม่ แต่รัฐบาลต้องมีความชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมัน ไม่เช่นนั้นถามว่าตอนนี้ใครดูแล เพราะปัจจุบันเราไม่มีอำนาจจะไปสอบถามหรือรวบรวมข้อมูลจากใคร ซึ่งเราต้องรีบดำเนินการได้แล้ว เครื่องมือที่ขาดจะได้หาช่องทางตั้งแต่เนิ่น ๆ" ภก.ปรีชา ระบุ
ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้เกิดภาพเช่นในกรณีต่างประเทศที่มีเครื่องมือไม่พอใช้ สุดท้ายจึงต้องเลือกรักษาผู้ป่วยโดยปล่อยให้บางรายตายไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับชาติ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยกันระดมสมอง รวมไปถึงเรื่องของการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 จะได้มีการตัดสินใจว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น
- 38 views