‘ธรรมศาสตร์’ ระดมทรัพยากรช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 เปิดห้องปฏิบัติการสหเวชศาสตร์สนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและ รพ.ในละแวกใกล้เคียง รับตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างแม่นยำ รู้ผลภายใน 6-12 ชั่วโมง โดยจะรับสิ่งส่งตรวจจาก รพ.หรือสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ยังไม่มีบริการตรวจเชื้อให้กับประชาชนเป็นรายบุคคลแต่อย่างใด
รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์
รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยของประชาชน ได้ระดมองค์ความรู้และทรัพยากรที่มี เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการใช้ห้องปฏิบัติการของศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ ที่สามารถตรวจยืนยันผล COVID-19 ในห้องปฏิบัติการได้ภายใน 6-12 ชั่วโมง มาสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลอื่นๆ
“เดิมทีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และโรงพยาบาลอื่นๆ จะต้องส่งสิ่งส่งตรวจกลับไปที่ส่วนกลาง นั่นก็คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะเสียทั้งเวลาเดินทางและต้องไปเข้าคิวการตรวจวิเคราะห์ กว่าผลการตรวจจะได้รับการยืนยันและส่งกลับมายังโรงพยาบาลต้นทางอาจใช้เวลานานเป็นวัน ซึ่งห้องปฏิบัติการคณะสหเวชศาสตร์จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพื้นที่รังสิต-ปทุมธานีมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าว
รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าวว่า คุณภาพและมาตรฐานห้องตรวจปฏิบัติการคณะสหเวชศาสตร์อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ ได้รับการรับรองความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อ COVID-19 ดังนั้นหากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ส่งสิ่งส่งตรวจมา ก็จะสามารถยืนยันผลได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทราบผลตรวจเร็ว ประสิทธิภาพในการรักษาก็จะดีขึ้นด้วย โดยปัจจุบันจะรับสิ่งส่งตรวจจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ยังไม่มีบริการตรวจเชื้อให้กับประชาชนเป็นรายบุคคลแต่อย่างใด
ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล
ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร และหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการนี้ เดิมใช้ตรวจวิเคราะห์เชื้อวัณโรค (TB) อยู่แล้ว ซึ่งเชื้อวัณโรคเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงมากกว่าเชื้อก่อโรค COVID-19 ฉะนั้นจึงมั่นใจในมาตรฐานและศักยภาพของห้องปฏิบัติการในการควบคุมความปลอดภัยได้อย่างแน่นอน
ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าวอีกว่า น้ำยาที่ใช้ตรวจในห้องปฏิบัติการเป็นน้ำยาที่ได้รับรองว่ามีความแม่นยำสูง มีความไวในการตรวจหาเชื้อและสามารถตรวจ 3 ยีน ใน 1 หลอดทดลองเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดได้เป็นอย่างดี
“เราเป็นสถาบันการศึกษา คนที่ปฏิบัติงานหลักในห้องปฏิบัติการก็จะเป็นอาจารย์ และนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านประสบการณ์และเทคนิคการตรวจ นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิกของประเทศไทย มาเป็นที่ปรึกษา อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมชีวนิรภัยมาดูแลเรื่องความปลอดภัย ตรงนี้คือความมั่นใจในการทำงานของห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าว
ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการของธรรมศาสตร์จะเป็นห้องความดันลบ ซึ่งจะมีเฉพาะในสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยทุกอย่างในห้องจะถูกผลักเข้าระบบกรองอากาศที่มีความละเอียดสูงในระดับที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ ฉะนั้นการทำงานภายในห้องปฏิบัติการจะไม่มีสิ่งปนเปื้อนรั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ในระยะแรกของการดำเนินงาน ศักยภาพของห้องปฏิบัติการ สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อได้วันละ 40-50 ตัวอย่าง
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์มีความพร้อมในการให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อ COVID-19 โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Realtime RT-PCR ภายใต้การดูแลของนักเทคนิคการแพทย์ และคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคนี้ ซึ่งห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุลของคณะสหเวชศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2 มีระบบความดันอากาศลบ และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน จึงหวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลในพื้นที่ได้มากขึ้น
อนึ่ง ห้องปฏิบัติการของศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้บริการตรวจวิเคราะห์เฉพาะสิ่งส่งตรวจจากโรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่มีบริการตรวจให้ประชาชนเป็นรายบุคคล โดยโรงพยาบาลใกล้เคียงที่ต้องการส่งสิ่งส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการฯ สามารถติดต่อได้ที่ 02-986-9213-9 ต่อ 7277 และ ต่อ 7686 ในเวลาราชการ
- 175 views