สธ.แถลง พบผู้ป่วยโควิด -19 เพิ่ม 4 ราย ติดตามผู้สัมผัสแล้ว รอผลตรวจแล็บยืนยัน ยกระดับคุมเข้มแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ที่เข้าไทยก่อน 4 มี.ค. ต้องกักตัวเองในบ้าน 14 วัน มีเจ้าพนักงานคุมเข้ม หลังขอความร่วมมือแล้วยังออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ลั่นหากยังฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ยกเคส “หมูกระทะ” คนเสี่ยงสุดคือคนในครอบครัว
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติม 4 ราย รายที่ 1 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี เป็นพนักงานบริษัท เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ตรวจผ่านช่องทางสนามบินไม่พบไข้ แต่หลังจากนั้นมารักษา รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้ ไอ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ปัจจุบันรักษาที่ รพ.ชลบุรี รายที่ 2 เป็นชายไทย อาชีพพนักงานบริษัท อายุ 42 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 มี.ค. มารักษาด้วยตนเอง เพราะตอนผ่านด่านไม่มีไข้ รักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ทั้งนี้ ทั้ง 2 รายไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
รายที่ 3 เป็นชายชาวจีน อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางจากประเทศอิหร่านเพื่อมาต่อเครื่องเมื่อวันที่ 1 มี.ค. รายนี้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคที่สุวรรณภูมิพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูกระหว่างรอต่อเครื่องจึงส่งเข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร และ รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 21 ปี เป็นนักศึกษากลับจากประเทศอิหร่าน เมื่อ 27 ก.พ. ตอนที่เดินทางผ่านด่านที่สนามบินไม่มีไข้ ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เข้ารักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้ติดตามผู้สัมผัสของผู้ป่วยทั้ง 4 ราย และเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างรอผลแล็บ
ดังนั้นสรุปประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 47 ราย รักษาหาย 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังเหลือรักษาใน รพ.อีก 15 ราย สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ที่อาการหนักเพราะมีโรควัณโรคร่วมด้วย ตอนนี้ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสฯ มากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่อยู่ในการดูแลของแพทย์ใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.– 4 มี.ค. 3,895 ราย ให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,319 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ.1,576 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับเข้าไทยก่อนที่จะมีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้แยกสังเกตอาการของตัวเองในที่พัก 14 วัน แต่ก็ยังพบว่ามีคนในกลุ่มนี้ออกไปมีกิจกรรมทางสังคม ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ไปร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกันของกลุ่มคน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องยกระดับสำหรับคนที่เดินทางกลับเข้ามาก่อนหน้านี้ และยังไม่พ้นช่วง 14 วัน ซึ่งมีรายชื่อทั้งหมด จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยจะมีเจ้าพนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ไปตรวจติดตาม เฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด จนครบไม่น้อยกว่า 14 วัน
หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 34 (1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หากจะออกนอกพื้นที่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานให้ทราบเพื่อพิจารณาและให้คำแนะนำมาการป้องกันตัวเองและสังคม ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าท่านมาจากประเทศเสี่ยง แม้ตอนนี้จะสบายดี ไม่ติดเชื้อ แต่เพื่อเป็นการป้องกันโอกาสเกิดการระบาดของโรคก็ต้องทำ เรื่องนี้เป็นจิตสำนึกที่ต้องมีต่อสังคม ขณะที่สังคมก็ต้องรับผิดชอบด้วยการไม่รังเกียจ ไม่ตีตรา ย้ำอีกครั้งโดยรวมเราจะสามารถผ่านสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ต้องอาศัยความรับผิดชอบของทุกคน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีรายงานแรงงานไทยที่เพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ไม่ยอมกักตัวเอง 14 วัน แต่พาครอบครัวไปรับประทานหมูกระทะนอกบ้าน ที่จังหวัดเชียงราย จนร้านต้องปิด 1 วันเพื่อทำความสะอาด นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ทุกคนเมื่อกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงก็ควรรับผิดชอบกับตัวเองครอบครัวและสังคม ถึงแม้จะไม่ป่วยก็ควรมีการกักตัวเองอยู่กับบ้าน 14 วัน และขอให้แยกตัวออกจากครอบครัวด้วยซ้ำ ที่ยังไปกินหมูกระทะกันอยู่ คนสี่ยงที่สุดคือคนในครอบครัวเขาเอง ส่วนคนที่กินในร้านไม่มีความเสี่ยง เพราะอยู่กับความร้อน
เมื่อถามย้ำว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำคนที่กลับมาก่อนนายกฯ มีข้อสั่งการ และยังไม่พ้นช่วง 14 วัน มาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ นพ.โสภณ กล่าวว่า ยังทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่สามารถย้อนหลังได้ แต่ถ้าไม่ทำตามคำสั่งเจ้าพนักงานก็เอาผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อได้
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตีตรา แบ่งแยกกีดกันสร้างความเครียด วิตกกังวล แบ่งแยกพวกเขา พวกเรา ทำให้มีอารมณ์อย่างอื่นขึ้นมา ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการตอบโต้มาตรการมุมกลับ ถ้าตีตรา เขาจะปิดบัง และใช้ชีวิตปกติ ทำให้เสี่ยงแพร่เชื้อตามชุดพฤติกรรม ซึ่งโรคนี้แพร่ง่ายกว่าเอชไอวีด้วยซ้ำ
- 7 views